เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2562 เรื่อง “การปรับตัวของชาวนาไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานพิธีเปิดประชุม และ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการโปรแกรมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน เป็นผู้แทน สวทช. ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานดังกล่าว
ภายในงานมีการจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร อาทิ เรื่อง “การปรับตัวของชาวนาไทยสู่การเป็น “ชาวนามืออาชีพ” โดยมี ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา เป็นผู้ดำเนินรายการ เรื่อง “คิดใหม่-ทำใหม่ การจัดการดินและปุ๋ยในนาข้าว” และ “นวัตกรรมแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อชาวนา” โดยมี ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีร่วมผู้อภิปราย ได้แก่ ดร.พยอม โคเบลลี่ จากกรมการข้าว นำเสนอไลน์คลินิกข้าว กรมการข้าว เพื่อตอบปัญหาเรื่องโรค แมลง ศัตรูข้าว วัชพืช ดิน และปุ๋ยโดยผู้เชี่ยวชาญ ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอการวินิจฉัยโรคข้าวผ่านไลน์บอท (Line Bot) โดยหลังจากที่เกษตรกรเข้ามาอยู่ในกลุ่มไลน์บอทแล้ว เกษตรกรสามารถถ่ายรูปและอัปโหลดรูปเข้ามาในกลุ่ม ระบบจะส่งคำวินิจฉัยตอบกลับมาผ่านไลน์บอทพร้อมคำแนะนำในการแก้ไขโดยใช้เวลา 3 ถึง 5 วินาทีต่อภาพ ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยได้แล้ว 6 โรค คือ โรคขอบใบแห้ง โรคใบขีดโปร่งแสง โรคไหม้ โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคใบหงิก โดยมีพันธมิตรร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์) เนคเทค สวทช. และ ดร.อุกฤษ อุณหเลขกะ รีคัลท์ สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ได้นำเสนอแอปพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นกับเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกอย่างแม่นยำเป็นรายแปลง เช่น สามารถพยากรณ์ฝนเพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนวันลงปลูกให้เหมาะสมกับช่วงที่ต้องการ/ไม่ต้องการน้ำของพืชเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงาน “โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าวโดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์” เป็นระบบตรวจวินิจฉัย ติดตาม ให้คำแนะนำในการป้องกันและกำจัดโรคข้าว และเตือนภัยโรคข้าวผ่านทางโมบายแอปพลิเคชัน โดย คุณวศิน สินธุภิญโญ และคณะนักวิจัยเนคเทค ร่วมกับ ผศ.ดร.จินตนา อันอาตม์งาม ผศ.ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงาน “ข้าวเหนียวหอมนาคา” ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง แตกกอดี ต้นเตี้ย ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 930 กิโลกรัมต่อไร่ โดย ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา อ.วินิจ นุ่มฤทธิ์ และทีมนักวิจัยไบโอเทค ซึ่งทั้งสองผลงานเป็นผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากโปรแกรมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน สวทช.