ประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชพรรณได้หลากหลายชนิด สร้างผลผลิตและรายได้จำนวนมาก ในเมื่อการเพาะปลูกขยายตัวมากขึ้น ก็ทำให้เหล่าโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน เพราะมีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน ทำให้แมลงต่างๆ มีการระบาดและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเกษตรกรต้องหันมาพึ่งพาสารเคมีในการกำจัดโรคและแมลง ซึ่งเมื่อใช้สารเคมีเหล่านี้ไปนานๆ ก็จะทำให้แมลงศัตรูพืชมีการดื้อยา เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรเอง ทำให้มีสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และนอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินจากการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)ได้มีการต่อยอดงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มาพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์สำหรับใช้ในการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืช วัชพืชและกำจัดโรคพืชต่างๆ ซึ่งชีวภัณฑ์เหล่านี้ เป็นจุลินทรีย์หรือสารที่สกัดจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งเกษตรกรที่นำไปใช้และผู้บริโภค สามารถนำไปใช้ทดแทนสารเคมีอันตรายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ให้ข้อมูลว่า ไบโอเทค สวทช. มีการวิจัยและพัฒนาด้านสารชีวภัณฑ์มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ราแมลงต่างๆ โปรตีน จากแบคทีเรีย และไวรัส เอ็น พี วี (NPV) เป็นต้นซึ่งที่ผ่านมาไบโอเทคได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับสารชีวภัณฑ์เหล่านี้ ไปเผยแพร่ และถ่ายทอดให้กลุ่มเกษตรกรได้มีการนำไปใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรกรในกลุ่มที่ต้องการผลิตพืชแบบอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิคฟาร์ม เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.บุญเฮียง ให้ข้อมูลต่อว่า ปัจจุบันไบโอเทค มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารชีวภัณฑ์จากราแมลง อาทิ ราบิวเวอเรีย (Beauveria) และ ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) ซึ่งเป็นราที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงได้หลากหลายชนิดโดยเฉพาะแมลงปากดูด อาทิ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ด้วง และไรแดง เป็นต้น โดยเชื้อราจะเข้าไปในตัวแมลง ทำให้แมลงเป็นโรค อ่อนแอและตายในที่สุด และเชื้อราจะสร้างเส้นใยและสปอร์ปกคลุมซากแมลง แล้วแพร่กระจายไปสู่แมลงตัวอื่นๆ ได้ต่อไป ส่วน ชีวภัณฑ์โปรตีนจากแบคทีเรีย นั้น ได้มีการวิจัยและพัฒนามาจากโปรตีน Vip (Vegetative insecticidal protein) ซึ่งเป็นโปรตีนฆ่าแมลงที่พบได้ในแบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) บางสายพันธุ์ จนพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ วิปโปร (VipPro) โดยสามารถออกฤทธิ์ฆ่าหนอนแมลงในกลุ่มหนอนผีเสื้อและหนอนผีเสื้อกลางคืนซึ่งเป็นแมลงศัตรูหลักของพืชเกือบทุกชนิด เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนคืบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม สามารถออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างเร็ว การทดสอบภาคสนามในนาข้าว ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง และหอมแดง พบว่าผลิตภัณฑ์ VipPro สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดีเทียบเท่ากับการใช้สารเคมี ผลการทดสอบภาคสนาม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถทำให้นักวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วต่อไป
ในปัจจุบันนี้ทาง สวทช. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นำงานวิจัยเหล่านี้ขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกและลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรไทย ที่สนใจทำการเกษตรแบบปลอดภัยและยั่งยืนต่อไป