กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ของไทย ซึ่งบริษัท Naga-Gold ผู้นำเข้าข้าวไทยพรีเมี่ยมในฝรั่งเศส ได้ส่ง”ข้าวไรซ์เบอร์รี่”เข้าประกวด และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในงานประกวดสินค้า Fine Grocery ต่างชาติในงาน Epicures 2021 (ที่มา : “ข้าวไรซ์เบอรี่ไทย” คว้ารางวัลเหรียญทองแดง)
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry) เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์ขึ้นโดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(พันธุ์พ่อ) กับ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากสถาบันวิจัยข้าว(พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และ ไบโอเทค สวทช. นำโดย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา และ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนและคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดได้ดี ขนาดเม็ดใหญ่ ยาวเรียว ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง และเปลือกเมล็ดสะอาด จนกระทั่งได้พันธุ์ข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้ชื่อว่า “ไรซ์เบอร์รี่” โดยมีสารอาหารที่สำคัญประกอบด้วย โอเมก้า 3 มีอยู่ 25.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ธาตุสังกะสี 31.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ธาตุเหล็ก 13-18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมวิตามินอี 678 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม วิตามินบี 1 มีอยู่ 0.42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเบต้าแคโรทีน (สารตั้งต้นวิตามินเอ) 63 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งปัจจุบันข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้ผ่านการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ กรมวิชาการเกษตร เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อเพิ่มผลผลิต ความต้านทานโรคแมลงและคุณค่าทางโภชนาการให้สูงขึ้น ปัจจุบันนักวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว Riceberry ให้ต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง (bacterial leaf blight) ได้อย่างกว้างขวาง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และทนน้ำท่วมฉับพลัน และยกระดับผลผลิตของข้าวดำให้สูงระดับ 1 ตันต่อไร่ แต่มีคุณสมบัติการหุงต้มเหมือนข้าว Riceberry เดิม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ต้านทานโรคขอบใบแห้งนี้อยู่ระหว่างการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้การพัฒนาพันธุ์ข้าว Super Riceberry ที่มีกลิ่นหอมละมุน, เพิ่ม Antioxidant, Polyphenol, Anthocyanin, Protein ทำให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงให้ Resistance Starch สูงขึ้นเพิ่มคุณสมบัติการพองตัว (popping) ที่ดี เหมาะกับอุตสาหกรรมขนมอบกรอบ (cracker) อีกด้วย