ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการ ไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) สาขาเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “Investigating the potential adaptive responses of the Thai rice resource to biotic and abiotic stresses under future climate change conditions” โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณทุนอุดหนุนวิจัย จำนวน 7,500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2564 – 2566)
โครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมข้าวไทย 270 พันธุ์ (จากทั้งไบโอเทคและกรมการข้าว) ในการศึกษากลไกการปรับตัวของข้าวต่อสภาพแวดล้อมซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา breeding platform สำหรับปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มียีนต้านทานต่อสภาวะเครียดต่าง ๆ และศึกษาลักษณะหน้าที่และปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีนต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้งในข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวจากการปรับปรุงพันธุ์ต่อเชื้อสาเหตุ Magnaporthe oryzae และ Xanthomonas oryzae pv. oryzae โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ขั้นสูง และเทคโนโลยีด้านชีววิทยาเชิงคำนวณ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราเมตาไรเซียม (Metarhizium) กับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อเป็นแนวทางในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นสารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและป้องกันโรคข้าวที่เกิดจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกด้วย
โดยคณะนักวิจัยในโครงการประกอบด้วย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา Dr.Clive Terence Darwell ดร.สามารถ วันชะนะ ดร.วัชรีวรรณ แจ่มบุญศรี ดร.โจนาลิซา แอล เซี่ยงหลิว จากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ดร.นพพล คบหมู่ ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ดร.ศิริภา กออินทร์ศักดิ์ ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ผศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ภาควิชาพืชไร่นา รศ.ดร.ชัชวาล จันทราสุริยารัตน์ ภาควิชาพันธุศาสตร์ และ ดร.อภิญญา ลงยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) เป็นทุนที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสที่มีความสามารถ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ให้สร้างกลุ่มวิจัยให้มีความเข้มแข็ง โดยเน้นการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อสร้างศักยภาพเชิงปัญญาระยะยาวของชาติ ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนส่งเสริมการวิจัยต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้สรรหาจากการสำรวจรายชื่อนักวิจัยชั้นนำ รวมทั้งการเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิ