ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. ร่วมงานวันเกษตรกรระดับเครือข่าย จ. น่าน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดน่าน อบต.เมืองจัง อบต.ฝายแก้ว มูลนิธิฮักเมืองน่าน และศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จัดงานวันเกษตรกรระดับเครือข่าย ณ ลานศาลาจังหวัดน่าน (หลังเก่า) โดยมี คุณนรินทร์ เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านเป็นประธานเปิดงาน โดยมุ่งหวังส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรได้มีองค์ความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร ในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดพื้นที่เป็นรูปธรรมและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้ โดยภายในงาน ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพพืช ดร.วีราภรณ์ อักษรศรี รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ ไบโอเทค คุณศิริพร วัฒนศรีรังกุล ผู้อำนวยการโปรแกรมข้าว ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. ดร. กัญญนัช ศิริธัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และคณะนักวิจัยได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย 

DSC 6339

ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา “ข้าว…ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน” โดยมีการเชิญนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการผลิตข้าวสำหรับเมืองน่านที่ยั่งยืน โดยพูดถึงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกรและภาครัฐที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่น่าน การทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อยกระดับการผลิตข้าว โดยการผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูลทางวิชาการ ร่วมกับชุดประสบการณ์จริงของชาวนา พร้อมทั้งการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ศูนย์กลางส่งเสริม สนับสนุนกลุ่มชาวนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการคิด การผลิต จนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ และกลไกทางการตลาด มีการนำเสนอผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆ อาทิ เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน (กข6 ต้านทานโรคไหม้) และข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคใบไหม้และโรคขอบใบแห้งที่ทางนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ได้ปรับปรุงพันธุ์ให้มีความต้านทานต่อโรคโดยเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกพันธุ์ ซึ่งต่อมา สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิรินสู่ชุมชน มีผลให้เกษตรกรมีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อใช้ภายในชุมชนและกระจายไปสู่ชุมชนเครือข่ายอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการประกวดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และข้าวพันธุ์ส่งเสริมที่พัฒนาพันธุ์โดยไบโอเทค ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานชิมและประเมินคุณภาพการหุงต้มของข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยพิจารณาจากสี ความยาวของเมล็ดข้าวสุก ความนุ่ม ความหอม และรสชาติ เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภค โดยในปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับสายพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ย ที่พัฒนาโดยไบโอเทคให้มีความหอม ต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง จำนวน 20 สายพันธุ์ โดยเกษตรกร 11 กลุ่มในจังหวัดน่านได้ร่วมกันคัดเลือกจากลักษณะทางการเกษตร โดยคัดข้าวไว้ 6 สายพันธุ์ และได้นำมาชิมในงานนี้ โดยผลจากการชิมกลุ่มเกษตรกรได้คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์เพื่อขยายผลในปีหน้า เนื่องจากทั้ง 3 สายพันธุ์มีความนุ่มหอม และไม่แข็งเมื่อทิ้งไว้ ซึ่งเป็นที่พอใจของเกษตรกร งานดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของ สวทช. สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
หลังจากนั้นได้มีการร่วมหารือระหว่างคณะนักวิจัยของไบโอเทค มทร ล้านนา กับกลุ่มเกษตรกร ถึงปัญหาและความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตรกร เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมต่อพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรต่อไป รวมถึงร่วมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวเบื้องต้น
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้าจากชุมชน ตลาดประชารัฐ และจัดพิธีสู่ขวัญข้าว ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่โพสพ และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย 

RiceInNan

วันเกษตรกรระดับเครือข่าย เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นที่ตำบลเมืองจังและตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนารูปแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร องค์กรเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเชื่อมโยงสู่การพัฒนาธุรกิจจากผลผลิตในระบบฟาร์มอินทรีย์ของชาวนา ตลอดจนพัฒนาให้เกิดศูนย์ประสานงานและถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ พันธุ์ดี และนิเวศน์ดีโดยเทคโนโลยีที่เกษตรกรควบคุมได้ และเหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม