ดร.แสงจันทร์ เสนาปิน นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลวิจัยทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2559 จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ในผลงานเรื่อง “งานวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในกุ้งและปลา: เชื้อโรค กลไกก่อโรค และการตรวจวินิจฉัย”
ผลงานวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในกุ้งและปลาก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ การสร้างความร่วมมือทางการวิจัยในการเฝ้าระวังการเกิดโรค ควบคุม และลดปัญหาความสูญเสียจากโรคระบาด อีกทั้งก่อให้เกิดงานวิจัยต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและจำเพาะต่อเชื้อโรคสายพันธุ์ท้องถิ่น ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคอุตสาหกรรม โดยผลงานวิจัยตัวอย่างของ ดร. แสงจันทร์ ได้แก่
- การศึกษาโรคกล้ามเนื้อตาย ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในกุ้งขาว (Penaeus vannamei) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Infectious myonecrosis virus (IMNV) Penaeus vannamei nodavirus (PvNV) และ Macrobrachium rosenbergii nodavirus (MrNV) ซึ่งพบว่าความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความเค็มของน้ำลดลง เป็นต้น
- การศึกษาเชื้อไวรัสก่อโรคหัวเหลือง (Yellow head virus, YHV) ในกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) ซึ่งพบว่าสามารถก่อโรคในกุ้งขาว (P. vannamei) ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการก่อโรคข้ามสายพันธุ์
- การศึกษาโรคอุบัติใหม่ในกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำอย่างโรคตับวายเฉียบพลัน (EMS/AHPND) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ที่มียีนส้รางสารพิษ PirA และ PirB
- การศึกษาโรคอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิม (Oreochromis spp.) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Hahella chejuensis โดยจะทำให้ไข่ปลาเป็นสีแดงและไม่ฟักเป็นตัว ส่งผลให้ผลผลิตลูกปลาลดลง 10-50% และกำลังพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อดังกล่าวด้วยการใช้ดีเอ็นเออยู่ในขณะนี้
- การทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในการศึกษาการก่อโรคร่วมกันของแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Flavobacterium columare และ Edwardsiella ictaluri ซึ่งก่อให้เกิดโรคคอลัมนาริส (columnaris) และโรคเอ็ดเวิร์ด (Edwardsiellosis) ในปลาสวาย (Pangasianodon hypophthalmus) พบว่าปลาสวายที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกันสองชนิดจะทำให้ปลาตายมากกว่าการติดเชื้อแบบเดี่ยว
- การศึกษาโรคอุบัติใหม่ในปลานิล ที่พบเชื้อแบคทีเรีย Francisella noatunensis subsp. orientalis (Fno) และ Aeromonas veronii และได้พัฒนาวิธีการตรวจเชื้อ Fno ด้วยวิธีดีเอ็นเอ และหาแนวทางการใช้โปรตีนจากแบคทีเรีย Aeromonas ในการพัฒนาเป็นวัคซีนต่อไป
รางวัลทะกุจิ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา ที่มีผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่น และภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการศึกษา วิจัย และ การประยุกต์ใช้วิทยาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุขภายใน ประเทศไทย นักวิจัยที่ได้รับรางวัลได้ร่วมเสนอผลงานในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย The 28th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB 2016) ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา