ทีมวิจัยไบโอเทคและนาโนเทค ร่วมพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม “การวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาด้วยเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์”

การวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาด้วยเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ หรือ Chroml (โครมอล) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทาง computer vision สำหรับวิเคราะห์ผลตรวจเชื้อวัณโรคที่ได้จากการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของเชื้อในอุณหภูมิคงที่หรือ เทคนิคแลมป์ (LAMP) แบบเปลี่ยนสี ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง Chroml ผ่านทางแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้การประเมินผลตรวจเชื้อวัณโรคทั้งแบบปกติและดื้อยาเป็นไปได้อย่างเที่ยงตรงและง่ายดายโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ Chroml ยังสามารถตรวจจับการเปลี่ยนสีได้อย่างแม่นยำและไวกว่าสายตามนุษย์ ทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัยได้ในราคาประหยัด ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อกระบวนการวินิจฉัยโรคในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือศูนย์การแพทย์ท้องถิ่นที่มีบุคลากรและงบประมาณจำกัด

U raka 1

Chroml เป็นผลงานร่วมวิจัยจากคณะนักวิจัย 4 สถาบัน นำโดย ดร.อิทธิ ฉัตรนันทเวช จากนาโนเทค ดร.ภคพฤฒ คุ้มวัน คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย คุณศิรินทิพย์ แดงติ๊บ จากไบโอเทค ดร.ญาณเดช ศรีพาณิชย์ จาก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.อังคณา ฉายประเสริฐ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ Incubation Program ของโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 แล้ว โดยทีมวิจัยได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท และเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการบ่มเพาะทั้งด้านธุรกิจและเทคนิค เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและนำออกสู่ตลาดได้จริง

U reka3

(ซ้าย-ขวา) ศิรินทิพย์ – วรรณสิกา – ดร.ญาณเดช – ดร.ภคพฤฒ – ดร.อิทธิ – รศ.ดร.อังคณาโครงการ U.REKA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) และต้องการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกนั้น  ทั้งนี้การดำเนินโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 ได้รับการการสนับสนุนจากสถาบันศึกษา องค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 21 ราย ได้แก่ Hello Tomorrow องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งใช้ Deep Tech แก้ปัญหาระดับโลก Baker McKenzie, 360IP, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด KX: Knowledge Exchange, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอปอร์เรชั่น จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ และดิจิทัล เวนเจอร์ส ร่วมด้วยมหาวิทยาลัย 10 แห่ง