นักวิจัยไบโอเทคคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ

01

 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559 และรางวัลประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ 

02

 ในการนี้ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค เข้าร่วมแสดงความยินดีกับคณะวิจัยไบโอเทคที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งสิ้น 7 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2559• รางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “ซีรีนไฮดรอกซีเมธิลทรานเฟอร์เรส” เป้าหมายยาใหม่สำหรับโรคมาลาเรีย นำโดย ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพาณิช นักวิจัยห้องปฏิบัติการการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล และคณะ 

03

ผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาบทบาทของเอนไซม์ซีรีน ไฮดรอกซีเมธิลทรานเฟอร์เรส (serine hydroxymethyltransferase, SHMT) ต่อการดำรงชีพของเชื้อพลาสโมเดียมและความสัมพันธ์ทางโครงสร้างและหน้าที่ของเอนไซม์ เพื่อให้ได้ข้อมูลจำเป็นสำหรับการออกแบบสารยับยั้งที่มีความจำเพาะต่อเอนไซม์ของเชื้อพลาสโมเดียมเพื่อพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย แสดงให้เห็นว่าเอนไซม์ SHMT เป็นโปรตีนจำเป็นเพื่อการเจริญและพัฒนาของเชื้อพลาสโมเดียมในระยะที่เจริญในเม็ดเลือดแดง จึงเป็นเป้าหมายยาใหม่เพื่อการพัฒนายาต้านมาลาเรียได้ นอกจากนี้ได้ค้นพบสารกลุ่มไพราโซโลไพแรนส์ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ SHMT ของเชื้อพลาสโมเดียมและยับยั้งการเจริญของเชื้อมาลาเรียในระดับนาโนโมลาร์ ซึ่งถือเป็นสารที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย  องค์ความรู้ที่ได้ทำให้เข้าใจกลไกการทำงานของเอนไซม์ SHMT ในระดับโมเลกุลและได้ข้อมูลพื้นฐานของสารต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียชนิดต่อไป • รางวัลระดับดี สาขาเกษตรและชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอาร์เอ็นเออินเทอร์เฟียแรนซ์เพื่อจัดการปัญหาโตช้าในกุ้งกุลาดำที่เกิดจากไวรัสแหลมสิงห์” นำโดย ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง และคณะ

04

 งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนากรรมวิธีผลิตอาหารเลี้ยงกุ้งที่มีส่วนผสมของอาร์เอ็นเอสายคู่ (dsRNA) เพื่อใช้ในการยับยั้งไวรัสแหลมสิงห์ในกุ้งกุลาดำ โดยการนำเทคโนโลยีอาร์เอ็นเออินเทอร์เฟียแรนซ์หรืออาร์เอ็นเอไอ (RNAi) มาประยุกต์ใช้ในการผลิต dsRNA ที่มีความจำเพาะต่อไวรัสแหลมสิงห์ในปริมาณมาก ด้วยต้นทุนต่ำ ตลอดจนการพัฒนาระบบส่งผ่าน dsRNA เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาโตช้าในกุ้งกุลาดำตลอดระยะวงจรชีวิต ผลงานวิจัยดังกล่าวจะมีส่วนในการสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวโน้มในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไบโอเทค มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล  รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559• รางวัลระดับดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “ลักษณะทางจีโนมของการแสดงออกของยีนส์ที่มีไลน์-1 โดยโปรตีนอาร์โกนอต” ของ ดร.ชุมพล งามผิว นักวิจัยห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ โดยมี ศ.นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา

05

  ผลงานวิจัยดังกล่าวอาศัยวิธีการทางสถิติและเทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์ข้อมูลไมโครอะเรย์ ซึ่งวัดระดับการแสดงออกของยีนในมะเร็งชนิดต่างๆ ทั่วจีโนม และศึกษาบทบาทและกลไกของไลน์-1 ในการควบคุมการแสดงออกของยีน นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยพื้นฐานนี้จะทำให้เข้าใจบทบาทของไลน์-1 ในจีโนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากขึ้น รวมทั้งสามารถนำกระบวนการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดียวกันไปศึกษาการควบคุมการแสดงออกของยีนในกลไกอื่นๆ   • รางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “การปรับเปลี่ยนกระบวนการเมตาโบลิซึมในการผลิตสารทุติยภูมิของต้นแพงพวยฝรั่ง แบบบูรณาการด้วยวิธีชีวสังเคราะห์ (synthetic biology) และเคมีสังเคราะห์ (synthetic chemistry)” ผลงานโดย ดร.วีรวัฒน์ รังกุพันธุ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการระบบจุลินทรีย์เพื่อผลิตชีวโมเลกุล โดยมี Dr. Sarah O’Connor จาก Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษา

06

  งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการปรับเปลี่ยนกระบวนการเมตาโบลิซึมในการผลิตสารทุติยภูมิของต้นแพงพวยฝรั่งแบบบูรณาการด้วยวิธีชีวสังเคราะห์ และเคมีสังเคราะห์ เนื่องด้วยต้นแพงพวยฝรั่งเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่ม monoterpene indole alkaloid (MIA) ได้มากกว่า 130 ชนิด ซึ่งสารทุติยภูมิในกลุ่มดังกล่าวพบว่ามีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่ม MIA ในต้นแพงพวยฝรั่งให้สามารถผลิตสารชนิดใหม่ด้วยวิธีชีวสังเคราะห์และเคมีสังเคราะห์ได้ โดยสามารถสร้างสารทุติยภูมิในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ยังไม่มีรายงานว่าสามารถผลิตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถึงแม้พืชจะมีความซับซ้อนทางด้านพันธุกรรม แต่มีแนวโน้มในการพัฒนาเป็นต้นแบบหรือระบบการผลิตสารชีวสังเคราะห์ต่อไป  • รางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาประสิทธิภาพในการทำงานของรีเชพเตอร์กลุ่มลิแกนด์เกทต์ไอออนแชแนล ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างของโปรตีน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลิแกนด์และรีเซพเตอร์ และการสื่อสารกับรีเซพเตอร์โปรตีนชนิดอื่น” ของ ดร.วัลย์รติ ลิ่มอภิชาติ นักวิจัยห้องปฏิบัติการการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล โดยมี Professor Dennis A.Dougherty จาก California Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษา 

071

   งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการเปิดและปิดประตูทางผ่านไอออนของโปรตีนรีเชพเตอร์กลุ่มลิแกนด์เกทต์ไอออนแชแนล (ligand-gated ion channels) ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนรีเซพเตอร์บนเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารของระบบประสาท โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างของโปรตีนปฏิสัมพันธ์ระหว่างลิแกนด์และรีเซพเตอร์ และการสื่อสารกับรีเซพเตอร์โปรตีนชนิดอื่นเป็นปัจจัยที่กำหนดประสิทธิภาพในการทำงานของรีเชพเตอร์กลุ่มลิแกนด์เกทต์ไอออนแชแนล องค์ความรู้ที่ได้นี้จะนำไปสู่การพัฒนายาและวิธีการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคเจ็บปวดเรื้อรัง รวมถึงวิธีการรักษาอาการติดสารเสพติด เช่น สารนิโคตินที่พบในบุหรี่    รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560• รางวัลระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “Amp-Gold” ชุดตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคตับตายเฉียบพลันสาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งอีเอ็มเอส” นำโดยคุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด และคณะ 

08

ชุดตรวจ Amp-Gold เป็นชุดตรวจสำเร็จรูปที่มีความสำคัญในอุสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจโรคตับตายเฉียบพลัน EMS/AHPND ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งตายด่วนได้ในกุ้งทุกวัยโดยอาศัยหลักการของเทคนิคแลมป์ Loop-mediated isothermal amplification (LAMP) ร่วมกับการใช้ตัวตรวจจับดีเอ็นเอที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน โดยอนุภาคทองคำนาโนจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อกุ้งอยู่ในภาวะที่มีการติดเชื้อ และเปลี่ยนเป็นสีม่วงเทาเมื่อกุ้งอยู่ในภาวะที่ไม่มีการติดเชื้อ นอกจากนี้ไพรเมอร์และตัวตรวจจับดีเอ็นเอที่ใช้สำหรับชุดตรวจนี้มีความจำเพาะต่อ toxin gene ของเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus มีความจำเพาะสูงและมีความไวมากกว่าเทคนิคพีซีอาร์เดิมที่ใช้อยู่ถึง 100 เท่า (เทียบเท่ากับเทคนิค nested PCR) แต่ใช้ระยะเวลาในการตรวจสั้นเพียง 1 ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ได้ในโรงเพาะเลี้ยงขนาดเล็กหรือฟาร์มขนาดเล็กได้ • รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “มะเขือเทศรับประทานผลสดลูกเล็กที่ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง” นำโดย ดร.อรวรรณ ชัชวาลการพาณิชย์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการไวรัสพืชและแบคทีรีโอฟาจ และคณะ  

09

ผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศ Snack slim 502 ให้ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองโดยเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิมเพื่อทำการผสมมะเขือเทศพันธุ์ Snack slim 502 กับพันธุ์ GT645-2 ซึ่งมียีน Ty3a ที่ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง และทำการคัดเลือกต้นมะเขือเทศที่มียีน Ty3a ที่ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองด้วยดีเอ็นเอเครื่องหมายโมเลกุล โดยเป็นการใช้เทคนิค marker-assisted selection เพื่อช่วยในการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศให้ต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลือง ทำให้สามารถคัดเลือกต้นมะเขือเทศที่มียีนต้านทานได้อย่างแม่นยำและลดระยะเวลาในการคัดเลือกต้นมะเขือเทศที่มียีนต้านทานโรคและให้ผลที่ดีและมีความหวานใกล้เคียงกับพันธุ์ Snack slim 502 โดยลดระยะเวลาในการคัดเลือกยีนต้านทานโรคจากเดิมใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือน อีกทั้งเป็นการลดการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงหวี่ขาวและเป็นการเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศ รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นรางวัลที่ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพเทียบเท่านานาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นประจำทุกปี