เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2558 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 โดยมีนักวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัลคือ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี และดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ และคณะ จากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยเข้ารับมอบรางวัลจากพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ดร.วิลันดา ภูตะคาม ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการลำเลียงซัลเฟตเข้าสู่เซลล์และกลไกการควบคุมโปรตีนนำส่งซัลเฟตในสาหร่ายสีเขียว Chlamydomonas Reinhardtii ที่มุ่งเน้นการทำความเข้าใจกลไกการตอบสนองของ Chlamydomonas ต่อสภาวะขาดธาตุอาหารกำมะถัน โดยได้ศึกษาการแสดงออกของโปรตีนนำส่งซัลเฟตที่ระดับการถอดรหัสพบว่าระดับการแสดงออกยีน SLT1, SLT2 และ SULTR2 ถูกควบคุมด้วยปริมาณกำมะถันในสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังค้นพบกลไกการตอบสนองต่อสภาวะขาดกำมะถันแบบสองขั้นตอน (two-tiered regulation) โดยกลไกนี้ยังไม่เคยค้นพบในสิ่งมีชีวิตอื่นมาก่อน งานวิจัยนี้สามารถนำผลไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจให้สามารถเจริญเติบโตในดินที่มีปริมาณกำมะถันต่ำและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ยเคมีซัลเฟตของเกษตรกรและช่วยขยายพื้นที่ทางการเกษตรไปสู่บริเวณที่สภาพดินไม่สมบูรณ์มาก
สำหรับ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อและคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากผลงานวิจัยเรื่อง “เอนอีซ: เอนไซม์ 2 in 1 สำหรับลอกแป้งและกำจัดแว๊กซ์บนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียวในอุตสาหกรรมสิ่งทอ” ผลงานวิจัยเอนอีซ หรือ ENZease เป็นเอนไซม์ที่ผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีกิจกรรมของทั้งเอนไซม์อะไมเลสและเพคติเนส รวมกันเรียกว่า “เอนไซม์ดูโอ” สามารถทดแทนการใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิตผ้าได้ ช่วยลดกระบวนการเตรียมผ้าฝ้าย โดยจะรวบวิธีการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้ามาอยู่ในขั้นตอนเดียว และช่วยปรับปรุงคุณภาพผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพดีกว่าการใช้สารเคมี คณะวิจัยผลงานนี้ประกอบด้วยบุคลากรจากไบโอเทค เอ็มเทค และโรงงานสิ่งทอธนไพศาล
นอกจากนี้ ดร. จิตติมา พิริยะพงศา นักวิจัยห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ เป็นหนึ่งในคณะวิจัยร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น. สพ. ดร. เดชฤทธิ์ นิลอุบล และคณะ ในผลงานวิจัยเรื่อง “วิวัฒนาการทางพันธุกรรมของยีนโออาร์เอฟ 5 และยีนเอ็นเอสพี 2 ของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในฝูงสุกรที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรง” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี อีกด้วย