นักวิจัยไบโอเทคคว้า 4 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ งานวันนักประดิษฐ์ 2562

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” (Thailand Inventors’ Day 2019) ฉลองครบรอบ 60 ปี และจัดพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดและขึ้นมอบรางวัล

Thailand Inventors Day 2019 1

ในการนี้ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค เข้าร่วมแสดงความยินดีกับคณะวิจัยไบโอเทคที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติจำนวนทั้งสิ้น 4 รางวัล ประกอบด้วย

Thailand Inventors Day 2019 2

รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2562

Thailand Inventors Day 2019 3

• รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมไวรัส ไอเอชเอชเอ็นแทรกในจีโนมของกุ้งกุลาดำซึ่งนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจไวรัสกุ้งไอเอชเอชที่มีความถูกต้องและรวดเร็ว” นำโดย ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ และคณะ


ผลงานวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จในการศึกษาลำดับเบสของเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็น (Infectious hypodermal and haematopoietic necrosis virus; IHHNV) ซึ่งนำไปสู่การค้นพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสแทรกในจีโนมของกุ้งและการพัฒนาชุดตรวจที่มีความถูกต้องและรวดเร็ว โดยเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นเป็นเชื้อก่อโรคในกุ้งที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) ระบุเป็นโรคระบาดสัตว์น้ำต้องห้ามในการนำสัตว์น้ำหรือซากสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งผลให้หลายประเทศมีการตรวจเชื้อก่อโรคในกุ้งที่มีการนำเข้ามาเพาะเลี้ยง ผลจากการวิเคราะห์ลำดับเบสของเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นด้วยเทคนิค PCR นำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นด้วยเทคนิค multiplex PCR ซึ่งสามารถแยกกุ้งติดเชื้อไวรัสที่แท้จริงออกจากกุ้งที่มีสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสแทรกในจีโนมกุ้งได้ อย่างไรก็ตามเมื่อนำชุดตรวจดังกล่าวมาทดสอบในกุ้งกุลาดำที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทย พบลักษณะการสอดแทรกของชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นที่แตกต่างจากลักษณะที่พบในกุ้งกุลาดำแถบแอฟริกาตะวันออกและออสเตรเลีย ดังนั้นการตรวจเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นด้วยเทคนิคดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลบวกปลอมจากการสอดแทรกของชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นได้ คณะผู้วิจัยจึงร่วมกันพัฒนาเทคนิคแลมป์ (Loop mediated isothermal amplification; LAMP) โดยใช้ไพรเมอร์ 2 ชุดที่อ้างอิงจากวิธีการตรวจโรคตาม OIE และข้อมูลที่คณะผู้วิจัยค้นพบตามลำดับ นอกจากนี้ได้พัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นด้วยเทคนิค in situ digoxigenin (DIG)-labeling LAMP (ISDL) ที่มีความจำเพาะกับเชื้อไวรัสไอเอชเอชเอ็นมากกว่าและใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่าเทคนิค in situ hybridization (ISH) ถึงหนึ่งในสามเท่า

รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562• รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากผลงานเรื่อง “เซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริส สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพไอโซบิวทานอล” นำโดย ดร.วีรวัฒน์ รังกุพันธุ์ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ และคณะ 

Thailand Inventors Day 2019 4

เซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริส (Pichia pastoris) ที่คณะวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพไอโซบิวทานอล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ โดยยีสต์ดังกว่ามีจุดเด่นที่ช่วยลดต้นทุน ในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ เติบโตเร็วย่นระยะเวลาในการหมักเชื้อ ผลิตไอโซบิวทานอลที่สูงมากขึ้น เพราะยีสต์จะไม่ผลิตเอทานอล สามารถผลิตเอนไซม์ในวิถีการย่อยชีวมวลได้ในปริมาณที่สูง เอื้อต่อการพัฒนาเชื้อเพื่อย่อยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นไอโซบิวทานอล เช่น กากมัน และ ชานอ้อย เป็นต้น

 
• รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา  จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาชุดตรวจเครื่องหมายโมเลกุลสนิปเพื่อการตรวจเอกลักษณ์และความ บริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์พืช” นำโดย ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยจากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ และคณะ

Thailand Inventors Day 2019 6 2


การค้าเมล็ดพันธุ์ลูกผสมทั้งในและต่างประเทศ ได้มีการกำหนดว่าค่าความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ส่งออกจำหน่ายจะต้องสูงกว่า 98% ทีมวิจัยได้พัฒนาชุดตรวจเครื่องหมายโมเลกุลสนิป เพื่อการตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์แตงกวา แตงโม แตงเทศ และพริก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยชุดตรวจมีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าวิธีดั้งเดิม นอกจากนี้ สามารถตรวจเมล็ดพันธุ์ปริมาณมากได้รวดเร็วกว่า และใช้แรงงานน้อยกว่าวิธีดั้งเดิม อีกทั้งยังได้มีการปรับแต่งให้มีความจำเพาะกับสายพันธุ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย จึงสามารถตรวจเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ปลูกในประเทศไทยได้เกือบทุกสายพันธุ์ เป็นการเอื้ออำนวยให้บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ไทย สามารถตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ก่อนส่งออกจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2562
• รางวัลระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “โครงเลี้ยงเซลล์กระจกตาที่เหนียวและแข็งแรงทำจากคอมโพสิตไฮโดรเจลเสริมแรงเส้นใยสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา” โดย ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ โดยมี Associate Professor Dr. Michelle Oyen จาก University of Cambridge สหราชอาณาจักร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก

Thailand Inventors Day 2019 5


ดร.ข้าว ได้เริ่มกระบวนการศึกษาจากปัญหาด้านการแคลนกระจกตาบริจาคที่มีคุณภาพดี นำไปสู่การสร้างกระจกตาขึ้นมาใหม่จากเซลล์ของผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ โดยศึกษาความทนทานการฉีกขาดของกระจกตาเพื่อใช้เป็นค่ามาตรฐาน จากนั้นศึกษากลไกที่มีส่วนเพิ่มการต้านการฉีกขาดของกระจกตา พบว่าเส้นใยคอลลาเจนทำหน้าที่สำคัญในการต้านการฉีกขาดขณะที่กระจกตาโดนดึงได้ จนนำไปสู่การพัฒนาคอมโพสิตไฮโดรเจลเสริมแรงด้วยเส้นใยที่เลียนแบบโครงสร้างและคุณสมบัติของกระจกตา ทนต่อการฉีกขาดและการดึงมากกว่าเดิมกว่าร้อยเท่า สามารถใช้แทนกระจกตาบริจาคในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นอีกครั้งได้อย่างปลอดภัย

“งานวันนักประดิษฐ์” (Thailand Inventors’ Day) จัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตร ในปี 2562 ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม พร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการนำการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ