เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier จัดพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน The 15th TRF-OHEC Annual Congress 2016 (TOAC2016) ณ โรงแรม เดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ในปีนี้มีนักวิจัยจากไบโอเทคได้รับรางวัล 2 ท่าน ได้แก่ ดร. ศิษเฎศ ทองสิมา หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ ได้รับรางวัล 2015 TRF- OHEC -Scopus Researcher Awards และ ดร. จิตติมา พิริยะพงศา นักวิจัยห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ ได้รับรางวัล TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา (ภาพซ้าย) และ ดร. จิตติมา พิริยะพงศา (ภาพขวา) รับรางวัลจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ได้รับรางวัลจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการทางคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยค้นหาตำแหน่งของเครื่องหมายทางพันธุกรรมจากการศึกษาความสัมพันธ์ของจีโนไทป์กับโรคซับซ้อนที่พบได้บ่อย” งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมแบบตำแหน่งเดียวหรือ สนิป (Single nucleotide polymorphism) บนจีโนมของมนุษย์วิเคราะห์ข้อมูลจีโนไทป์ที่กระจายอยู่ทั่วจีโนมโดยใช้ระเบียบวิธีชื่อว่า Genome-wide association study (GWAS) หรือจีวาส เพื่อค้นหาความหมายทางพันธุกรรมบ่งชี้ยีนที่มีปัจจัยเสริมต่อการเกิดโรคซับซ้อนที่พบได้บ่อย อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งการวิเคราะห์แบบจีวาสมักให้คำตอบที่เป็นผลบวกลวง (False Positive) งานวิจัยนี้ได้พัฒนากระบวนการประมวลผลแบบอัลกอริธึมแบบใหม่ ชื่อว่าไอพีพีซีเอ (ipPCA) ซึ่งนำข้อมูลสนิปของแต่ละคนมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่าในกลุ่มประชากรที่สนใจมีโครงสร้างของประชากรย่อย และท้ายที่สุดสามารถจำแนกกลุ่มประชากรย่อยเหล่านี้ออกมาได้
อัลกอริธึมที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้ในการทำนายจำนวนกลุ่มประชากรย่อยและกำหนดได้ว่าสมาชิกอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งต่อมาได้ใช้อัลกอริธึมนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่แยกออกจากกันได้ ความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกประชากรที่เหมือนกันก่อนนำมาวิเคราะห์จีวาส การคัดเลือกตัวอย่างที่มีความคล้ายคลึงด้านโครงสร้างประชากรมากขึ้นเช่นนี้จะช่วยทำให้การหาความสัมพันธ์ของจีโนไทป์และลักษณะเด่นถูกต้องมากขึ้น และได้เครื่องหมายพันธุกรรมที่สามารถทำนายลักษณะเด่นของจุลินทรีย์ พืช สัตว์ หรือโรคที่ต้องการศึกษาได้แม่นยำ การวิเคราะห์คู่สนิปทุกคู่ที่เป็นไปได้ทั่วจีโนมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้สร้างสมมติฐานใหม่ที่อาจจะเกิดจากการทำงานร่วมกันของยีนที่อยู่คนละโครโมโซม
สำหรับ ดร.จิตติมา พิริยะพงศา ได้รับรางวัลจากงานวิจัยเรื่อง “การใช้ชีวสารสนเทศในการศึกษากลไกการทำงานของไมโครอาร์เอ็นเอและโรคในมนุษย์” ภาพรวมงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการนำเอาชีวสารสนเทศที่อาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์มาใช้ในการวิจัยทางด้านชีววิทยา ในเรื่องการควบคุมการทำงานของยีนโดยไมโครอาร์เอ็นเอและเรื่องโรคในมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รวมถึงการจัดตั้งฐานข้อมูลใหม่และการค้นพบความรู้ใหม่จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านไมโครอาร์เอ็นเอ และการพัฒนาเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการค้นหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีนที่เกี่ยวข้องกับโรค โดยผลงานวิจัยเด่น ได้แก่ การสร้างฐานข้อมูลของตำแหน่งเป้าหมายของไมโครอาร์เอ็นเอซึ่งอยู่บนยีนโปรโมเตอร์ในจีโนมมนุษย์ ชื่อ ฐานข้อมูล microPIR ซึ่งฐานข้อมูล microPIR นี้ จะช่วยคัดกรองตำแหน่งเป้าหมายก่อนการศึกษาเชิงลึก ซึ่งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการดำเนินวิจัย ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่าร้อยคนจากประเทศต่างๆได้ลงทะเบียนขอดาวน์โหลดข้อมูลระดับจีโนมจากฐานข้อมูล microPIR เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโครงการวิจัยต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อไป
รางวัล TRF- OHEC-Scopus Researcher Awards เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. สกอ. และสำนักพิมพ์ Elsevier ผู้จัดทำฐานข้อมูลวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลาง ที่มีผลงานวิจัยที่อยู่ระหว่างรับทุนของ สกว. หรือสิ้นสุดโครงการไม่เกิน 2 ปี ที่มีผลงานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม