ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2561 (L’OREAL For Women in Science 2018) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน” ซึ่งนับนักวิจัยหญิงคนที่ 11 ของไบโอเทคที่ได้รับรางวัลนี้ โดยพิธีมอบทุนรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
ดร.วิรัลดา และคณะวิจัย ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีทางจีโนมิกส์และทรานสคริปโตมิกส์เข้ามาช่วยตอบโจทย์แนวปะการังฟอกขาวในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน อันเนื่องมาจากการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล โดยใช้เทคโนโลยี Pacific Biosciences (PacBio) sequencing ซึ่งอ่านลำดับเบสได้ยาวและถูกต้องแม่นยำ ในการค้นหาข้อมูลลำดับเบส 16S rRNA และ internal transcribed spacer sequence (ITS) ซึ่งเป็นลำดับเบสมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังและ coral-associated bacteria วิธีนี้ดีกว่าการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นวิธีที่ช้า ให้ผลไม่ค่อยแม่นยำและทำซ้ำได้ยากอีกด้วย
ดร.วิรัลดา และคณะวิจัย เป็นกลุ่มนักวิจัยแรกๆ ของโลกที่เริ่มศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ที่อาศัยร่วมกับปะการังต่อการอยู่รอดของปะการังในช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่กับปะการังสามารถใช้ประเมินโอกาสการอยู่รอดของปะการังแต่ละสปีชีส์ได้เมื่อสภาวะแวดล้อมเกิดการแปรปรวนในอนาคต นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนในปะการังเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เพื่อค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิปสำหรับใช้ในการคัดเลือกปะการังโคโลนีที่ทนต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถนำไปใช้คัดเลือกปะการังโคโลนีที่ทนร้อน (ไม่แสดงอาการฟอกขาวหรือฟอกขาวน้อย) เพื่อทำการขยายกิ่งพันธุ์ปะการังก่อนทำการย้ายปลูกกลับทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนรางวัลฯ ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAP ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด” และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาการวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี จากผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์อิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภา เทียมจรัส จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย”
โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science จัดขึ้นโดย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด จากการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 16 ในประเทศไทย โดยจะมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยหญิงรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี เพื่อผลักดันนักวิจัยสตรีของไทยให้เดินหน้าสร้างผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันทุนวิจัย ลอรีอัลฯ มอบทุนวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์สตรีรวมแล้วทั้งสิ้น 69 ท่าน โดยมีนักวิจัยหญิงไบโอเทคที่เคยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยดังกล่าวมาแล้วจำนวน มี 11 ท่าน ได้แก่ ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพานิช (2546) นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย (2548) ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร (2549) ดร.กัลยาณ์ แดงติ๊บ (2550) ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง (2551) ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ (2552) ดร แสงจันทร์ เสนาปิน (2554) ดร.ศันสนีย น้อยสคราญ (2555) ดร.จิตติมา พิริยะพงศา (2556) ดร.ธริดาพร บัวเจริญ (2556) และ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม (2561) ตามลำดับ