เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดพิธีมอบรางวัล DMSc Award เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 25 ประจำปี 2560 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็คเมืองทองธานี พร้อมมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2560 และรางวัล DMSc Award รวม 7 รางวัล
โดยคณะนักวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัลชนะเลิศ DMSc ในสาขางานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “กรรมวิธีควบคุมการแสดงออกของยีนเพื่อศึกษาเป้าหมายยาและหาสารยับยั้งเป้าหมายด้วยเทคนิคไรโบไซม์” นำโดย ดร.ฟิลิป ชอว์ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ และ ดร.อัยดา อรุณศรี นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีนลิแกนด์และชีววิทยาโมเลกุล หน่วยวิจัยชีววิทยาโมเลกุลทางการแพทย์
ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการนำเทคนิคไรโบไซม์ (glmS ribozyme) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางรีเวิร์สเจเนติกส์ (reverse genetic) มาประยุกต์ใช้ในการค้นหายาหรือพิสูจน์เป้าหมายของสารออกฤทธิ์ต้านมาลาเรีย โดยการแทรก glmS ribozyme เข้าไปที่ยีน dihydrofolate reductase-thymidylate synthase (DHFR-TS) ซึ่งเป็นเป้าหมายยาในเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum เพื่อยับยั้งการแสดงออกของยีนดังกล่าว โดยพบว่าเชื้อดัดแปลงพันธุกรรมนี้ มีความไวต่อยาต้านมาลาเรียที่มุ่งเป้าต่อเอนไซม์ DHFR-TS สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ความไวต่อยาต้านมาลาเรียที่มุ่งเป้าต่อเอนไซม์อื่น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อนำเชื้อดังกล่าวมาศึกษากับคลังสารต้านมาลาเรีย (Malaria Box compound library) ของ Medicines for Malaria Venture (MMV) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่ามีสาร 2 ชนิดเป็นสารออกฤทธิ์ต้านมาลาเรียที่มุ่งเป้าต่อเอนไซม์ DHFR-TS นอกจากนี้เมื่อนำเทคนิคดังกล่าวไปทดสอบในเชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในหนู Plasmodium berghei ก็ให้ผลสอดคล้องกัน องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อใช้ทนแทนยารักษาโรคมาลาเรียในปัจจุบันที่เชื้อมาลาเรียมีความต้านทานมากขึ้น
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 25 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2560 ภายใต้หัวข้อ “ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์” เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ในปีนี้มีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมส่งผลงานวิชาการจำนวน 184 ผลงาน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมาบรรยายพิเศษ เพื่อเป็นการให้มุมมองด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนางานวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยอีกด้วย