สวทช. เปิด “แปลงวิจัยมอสิงโต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” หวังใช้แปลงเป็นโมเดลศึกษาฯ สร้างองค์ความรู้เพื่ออนุรักษ์ป่าเขตร้อน

ไบโอเทค สวทช. ดำเนินงานศึกษา แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต มาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งถือว่าเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ติดตามสำรวจมากว่า 20 ปี ในพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ โดยเน้นการศึกษานิเวศวิทยาประชากรและชีววิทยาของชะนี ความหลากหลายของ พรรณไม้ เถาวัลย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ รวมถึงการติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต มีการศึกษาวิจัยที่มีความหลากหลายมาก และโดดเด่นมากในการติดตามศึกษาชะนี ซึ่งมี ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาชาวอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มศึกษาชะนีในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดแปลงวิจัยมอสิงโตแห่งนี้ ร่วมกับทีมวิจัยไบโอเทค นำโดย คุณอนุตตรา ณ ถลาง โดยพบว่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีชะนีสองชนิดพันธุ์ คือ ชะนีมือขาว (Hylobates lar) และชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus) แต่แปลงวิจัยมอสิงโตอยู่ในเขตการกระจายพันธุ์ของชะนีมือขาว ซึ่งจากการเฝ้าติดตามพฤติกรรมชะนี ทีมวิจัยพบว่า ชะนีเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในป่าเขาใหญ่อย่างมาก ในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช เพราะพฤติกรรมการกินอาหารของชะนีจะกลืนผลไม้ไปพร้อมกันกับเมล็ด ตั้งแต่เมล็ดที่มีขนาดเล็กไปจนถึงเมล็ดปานกลาง เช่น เงาะป่า ผลเถาวัลย์สายพันธุ์ช้างสารสับมัน เป็นต้น เมื่อชะนีเดินทางไปตามจุดต่างๆ ในอาณาเขต จะพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปด้วย พร้อมทั้งขับถ่ายออกมา และด้วยชะนีอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง มูลที่ขับถ่ายออกมาจะกระจัดกระจายไปทั่วทั้งแปลง ไม่มีการกระจุกรวมกัน จึงทำให้เมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้กระจายไปตามที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง

H lar

ชะนีมือขาว (Hylobates lar)

Hylobates pileatus

ชะนีมงกุฎ (Hylobates pileatus)

นอกจากนี้ยังพบว่า สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมีและช้าง ก็มีความสำคัญต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชขนาดใหญ่ที่ชะนีไม่สามารถกินได้หมดทั้งผล เช่น ผลกระท้อน มังคุดป่า ผลต้นไข่ช้าง ซึ่งสัตว์ใหญ่เหล่านี้มีขนาดถิ่นที่อยู่กว้าง จึงนำพาเมล็ดพันธุ์ไปได้ไกล ดังนั้นจะเห็นได้ว่าป่าที่สมบูรณ์ต้องอาศัยสัตว์ป่าหลากหลายชนิดในการกระจายเมล็ดพันธุ์ ที่สำคัญสัตว์ป่าเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเพิ่มศักยภาพป่าในการดูดซับคาร์บอนด้วย ซึ่งจากการศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผลของการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่ร่วมกับทีมวิจัยจากเยอรมนี พบว่า ป่าที่สมบูรณ์แต่ไม่มีสัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ มีศักยภาพการสะสมคาร์บอนน้อยกว่าป่าที่มีสัตว์ป่า เพราะต้นไม้ที่สัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ มักเป็นต้นไม้ที่ความหนาแน่นของเนื้อไม้สูง สะสมคาร์บอนได้มาก เช่น เงาะป่า มังคุดป่า ต้นตำหยาวผลตุ่ม ต้นขี้อ้าย

elephants1


อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังพบการเติบโตของพืช ในแปลงวิจัยที่กระจุกตัวบนพื้นที่ที่มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าชะนีจะกระจายเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร เช่น ต้นเงาะป่าทั่วแปลงวิจัยมอสิงโตฯ แล้วก็ตาม แต่กลับพบว่าต้นเงาะป่าเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระดับความสูงขึ้น โดยไม่พบการเกิดและเติบโตของต้นเงาะป่าในพื้นที่ราบหรือเจริญเติบโตได้จำนวนน้อยมาก ขณะเดียวกันยังพบสัตว์ป่า เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ที่เคยพบหากินและอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่าแปลงวิจัยมอสิงโต แต่ระยะหลังมานี้พบการย้ายถิ่นขึ้นมาในพื้นที่มอสิงโตเพิ่มขึ้น คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้พืชและสัตว์ป่ามีการปรับตัวอพยพย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้น เพราะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า

MoSingTo2


องค์ความรู้จากการทำแปลงศึกษาวิจัยมอสิงโตฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์จำนวนมาก ทั้งความหลากหลายพันธุ์พืชและสัตว์ พืชอาหารที่เป็นประโยชน์ของสัตว์ป่า ความสมดุลของต้นไม้และพันธุ์พืชอื่นๆ ในแปลง เช่น ต้นไม้ใหญ่กับเถาวัลย์ที่เติบโตอยู่ในพื้นที่เดียวกันและสร้างสมดุลพืชได้ดี ทั้งนี้หากพื้นที่ป่าอื่นๆ ในประเทศไทยจะทำแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้แปลงวิจัยมอสิงโตฯ เป็นต้นแบบนั้น ทีมวิจัยเห็นว่าน่าจะได้ประโยชน์และจะได้มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของป่าเขตร้อน สร้างเสถียรภาพด้านภูมิอากาศ และเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

การศึกษาแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย เช่น ไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program) หรือโครงการบีอาร์ที (BRT) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยไบโอเทค สวทช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโตได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแปลงวิจัยพลวัตป่าขนาดใหญ่ทั่วโลกของ Center for Tropical Forest Science (CTFS) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสถาบัน สมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความร่วมมือกับนักวิจัยนานาชาติในการศึกษาวิจัยมากมาย

ขอบคุณภาพจาก คุณกุลพัฒน์ ศรลัมพ์