เปิดตัว AmiBase ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หวังพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เปิดตัว “ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase (ASEAN Microbial Database)” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมข้อมูลของจุลินทรีย์ที่ค้นพบในอาเซียนไว้มากกว่า 30,000 ชนิด โดยจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ 

AmiBase

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะความหลากหลายของจุลินทรีย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และถือเป็นรากฐานความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมด้านอาหาร การแพทย์ การเกษตร และพลังงาน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย ไบโอเทค สวทช. ได้ผนึกกำลังผสานความร่วมมือกับเครือข่ายอาเซียนด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ (ASEAN Network on Microbial Utilization: AnMicro) กับ ACB ดำเนินโครงการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์แห่งอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Science, Technology and Innovation Fund)นำไปสู่การพัฒนา AmiBase เพื่อเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

AmiBase

ฐานข้อมูล AmiBase ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการข้อมูลจุลินทรีย์ในหลากหลายมิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ข้อมูลพันธุกรรมระดับยีนและจีโนม รายงานการวิจัย และบทความทางวิชาการ ข้อมูลการเก็บรักษา และบริการของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน เป็นต้น การพัฒนาฐาน AmiBase จึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำการสืบค้น การทำเหมืองข้อมูลและสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์จากการศึกษาวิจัยด้านไมโครไบโอม   และเมตาจีโนมิกส์ที่มีอยู่มารวบรวมและจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลำดับอนุกรมวิธาน

AmiBase1

ปัจจุบันฐานข้อมูล AmiBase มีข้อมูลจุลินทรีย์ที่เคยถูกรายงานการค้นพบในอาเซียนมากกว่า 30,000 ชนิด ในกลุ่มแบคทีเรีย อาร์เคีย รา สาหร่าย โปรโตซัว และไวรัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.amibase.org ทำให้สามารถค้นหาได้ง่ายและสะดวก เว็บไซต์ได้มีการพัฒนาวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบกราฟฟิก (Data Visualization) ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งคัดเลือกข้อมูลเพื่อสร้างกราฟฟิกตามข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป (Data-Driven Document) เพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กันเอง และความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับแหล่งที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ฐานข้อมูล AmiBase ยังมีเครื่องมือวิเคราะห์ออนไลน์ที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลพันธุกรรมสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ในระดับยีนและจีโนมเพื่อสนับสนุนการค้นพบจุลินทรีย์ชนิดใหม่ และการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลไมโครไบโอมในลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของจุลินทรีย์อีกด้วย