โครงการการพัฒนาระบบจากสาหร่ายเซลล์เดียว (microalgal-based systems) สำหรับใช้ควบคุมโรคกุ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Prof. Colin Robinson, School of Biosciences, University of Kent และ ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรม นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปลาและกุ้ง ไบโอเทค ได้รับคัดเลือกสนับสนุนทุนวิจัย International Collaboration Awards 2019 จาก The Royal Society ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Challenges Research Fund สหราชอาณาจักร เป็นจำนวน 9,000,000 บาทตลอดโครงการ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สาหร่ายเซลล์เดียว (microalgal-based strategy) เพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยผลิตกุ้งเลี้ยงประมาณ 400,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดของประเทศ แต่อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมกุ้งได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากจากการระบาดของโรค สร้างความสูญเสียมากถึง 60% ของผลผลิตในประเทศ และยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งในประเทศเพื่อนบ้าน การติดเชื้อไวรัสถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus – WSSV) และโรคหัวเหลือง (Yellow Head Virus-YHV) โครงการจึงมุ่งพัฒนาวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อยับยั้งโรคกุ้งที่เกิดจากไวรัสอันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยประกอบด้วยงานวิจัยหลัก 2 ส่วนที่สำคัญคือ1) การสร้างสาหร่ายเซลล์เดียว Chlamydomonas reinhardtii ที่สามารถผลิตอาร์เอ็นเอสายคู่ (dsRNA) และการพัฒนาวัคซีนรีคอมบิแนนท์สำหรับใช้ผสมในอาหารเลี้ยงกุ้ง ผลจากโครงการร่วมวิจัยที่ผ่านมาระหว่าง ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรม และ Prof. Colin Robinson แสดงให้เห็นว่าการผลิต dsRNA สายคู่ในคลอโรพลาสต์ของสาหร่ายเซลล์เดียว Chlamydomonas reinhardtii มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสหัวเหลืองผ่านการให้สารสกัดสาหร่ายแก่ลูกกุ้ง โดยในส่วนงานวิจัยนี้คณะวิจัยจะใช้เทคโนโลยีการแสดงออกของยีนแบบใหม่ในการผลิต dsRNAs และโปรตีนที่ช่วยยับยั้งโรคตัวแดงดวงขาวเพิ่มเติม2) การใช้สารสกัดจากสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิดผสมในอาหารเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากมีการรายงานอย่างแพร่หลายว่าสารสกัดจากสาหร่ายเซลล์เดียวมีประสิทธิภาพสูงในการช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้หลายชนิด โดยงานวิจัยส่วนนี้จะดำเนินการโดย ดร.อภิรดี หงส์ทอง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบทุน GCRF International Collaboration Awards เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาประเทศกำลังพัฒนาของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งสนับสนุนโดยแหล่งทุน The Royal Society โดยเน้นการสนับสนุนความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและนักวิจัยจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาสำคัญที่จำเพาะต่อภูมิภาค