ไบโอเทคจัดสัมมนา “Assisting Thailand Agriculture by Significantly Increasing Crop Yields Using Patented Gene Technologies”

ไบโอเทคจัดงานสัมมนา “Assisting Thailand Agriculture by Significantly Increasing Crop Yields Using Patented Gene Technologies” โดยเชิญ Dr.Jerald S. Feitelson นักวิจัยและผู้บริหารบริษัท AgiBody Technology, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจีโนมในพืชและจุลินทรีย์มามากกว่า 30 ปี มาเป็นผู้บรรยายในงาน โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชระหว่างบริษัทฯ กับบุคลากรของไบโอเทค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี 

111528

Dr. Feitelson บรรยายถึงงานวิจัยและพัฒนาของบริษัท AgiBody Technology ด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในเรื่องเกี่ยวกับการปรับแต่งจีโนม (genome editing) ของพืช ซึ่งเป็นกระบวนการการแก้ไขคุณสมบัติของพืชในระดับพันธุกรรม ด้วยระบบ CRISPR ซึ่งเป็นการใช้เอนไซม์ในกลุ่มนิวคลีเอส (Site-directed nucleases, SDN) เข้าไปตัดดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตในตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอเป้าหมาย นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกิดลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการ และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในการใช้เทคนิคนี้ ไม่ถือว่าติดบัญญัติกฏหมายควบคุม Genetic Modification เนื่องจากกลไกในการปรับแต่งพันธุกรรมแบบนี้มีความจำเพาะเจาะจงสูงและไม่มีชิ้นส่วนแปลกปลอมแทรกในระดับจีโนมของพืช
นอกจากนั้น Dr. Feitelson ได้ยกตัวอย่างชนิดและลักษณะของพืชที่ทดลองใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม โดยการใช้เอนไซม์นิวคลีเอสเฉพาะของบริษัทฯ (CRISPR 3.0) ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการใช้ SDD แบบเก่า ด้วยการหยุดการทำงานของ DHS gene (gene knockout) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนการทำงานของ Eukaryotic translation initiation factor (eIF gene) และทำให้พืชมีลักษณะทางการเกษตรที่ดีขึ้น เช่น การเพิ่ม biomass และผลผลิตให้สูงขึ้น การเพิ่มความทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการยืดอายุของผลผลิตให้ยาวนานขึ้น โดยมีตัวอย่างการทดลองในพืชหลายชนิด อาทิ การยืดอายุของผลมะเขือเทศและกล้วยหอมให้สุกงอมช้าลง การเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรคในต้นกล้วยและมะเขือเทศ การชะลอความแก่และเหี่ยวในพืชดอก การเพิ่มชีวมวลและผลผลิตในต้นคาโนลา และการเพิ่มลักษณะทางคุณภาพของต้นถั่วอัลฟัลฟ่า ซึ่งปัจจุบันต้นถั่วอัลฟัลฟ่าที่ปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีเฉพาะของบริษัทฯ ได้ผ่านการทดสอบระดับแปลงปลูกและได้รับการอนุมัติว่าเป็น non-regulated genome editing plant ชุดแรกของอเมริกาที่ไม่ถือว่าเป็น genetic modification plant 

Picture1