เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไบโอเทค สวทช. และ บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย “การผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ eLysozymeTM (eLYS-T1)” โดยมี ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค และ ดร.ฟาเบียน เดอ มีนสเตอร์ บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานร่วมลงนาม เพื่อให้บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถนำผลงานวิจัยจากไบโอเทคไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
“ไลโซไซม์ (Lysozyme)” เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในไข่ขาวของไก่ โดยมีอยู่ประมาณ 3.4% ของโปรตีนทั้งหมด ซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องตัวอ่อนของไก่จากการรุกรานของเชื้อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อม โดยออกฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จากคุณสมบัตินี้เองทำให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร นำเอาไลโซไซม์มาใช้ประโยชน์ในฐานะของสารยับยั้งแบคทีเรียหรือสารกันบูดจากธรรมชาติ (natural preservative) โดยได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ถึงความปลอดภัยในการ บริโภค และได้รับอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และการบำบัดรักษาบางประเภท
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของไลโซไซม์จากไข่ขาว มีความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแบคทีเรียในกลุ่มแลคติกได้ดีกว่าแบคทีเรียแกรมลบ แต่แบคทีเรียก่อโรคที่พบปนเปื้อนในอาหารและทำให้อาหารเน่าเสียนั้น มีทั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ จึงเป็นข้อจำกัดในการใช้ไลโซไซม์จากไข่ขาวของไข่ไก่ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้คณะผู้วิจัยไบโอเทค สามารถพัฒนาไลโซไซม์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ดีขึ้นทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ครอบคลุมแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร โดยผลงานวิจัยดังกล่าวกำลังนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์ประสิทธิภาพสูง ภายใต้ชื่อทางการค้า eLysozymeTM (eLYS-T1) สำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหาร
บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ไข่ให้มีคุณสมบัติ เชิงหน้าที่และเชิงสัมผัสที่มีคุณภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไข่ในประเทศไทย เล็งเห็นถึงคุณค่าของงานวิจัยจากไบโอเทคจึงเกิดการลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยการผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว เพื่อนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่ และลดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอาหาร สอดคล้องกับเป้าหมายของไบโอเทคที่มุ่งวิจัยและพัฒนาสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน