ไบโอเทคร่วมจัดงาน NAC2019 มุ่งตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย

เมื่อวันที่25 มีนาคม 2562 สวทช. จัดงานประชุมวิชการประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference 2019: NAC2019) ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

DSC 4430

พร้อมกันนี้ได้เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ BIG ROCK ของรัฐบาล ซึ่งโรงงานผลิตพืชเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้แสงจากหลอดไฟ LED สีต่างๆ เช่น สีแดงใช้เร่งดอก สีน้ำเงินบำรุงใบพืช ทดแทนแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ อีกทั้งยังมีระบบกรองอากาศทำให้ปราศจากเชื้อโรคและแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช และนักปรับปรุงพันธุ์พืชยังใช้องค์ความรู้ในการคำนวณและออกแบบการให้ความเข้มข้นของสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของพืชด้วย ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตเร็วช่วยร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต

PF

ซึ่งการผลิตพืชด้วยระบบนี้จะทำให้ผลผลิตที่ได้มีความสะอาดปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง คุณภาพดีและมีราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) สวทช. สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นแห่งแรกของประเทศไทยบนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ในอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และได้เริ่มทดลองปลูกพืชสมุนไพร เช่น บัวบก  ฟ้าทะลายโจร รวมถึงพืชชนิดอื่นๆ เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญมูลค่าสูงและนำไปพัฒนาเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในอาหารเสริม เวชสำอางเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่พืชสมุนไพรในประเทศ

โดยภายในงานฯ ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการงานวิจัย การเปิดบ้าน สวทช. ต้อนรับภาคเอกชนเข้ามาเยี่ยมชม

ในการนี้ไบโอเทค นำผลงานวิจัยเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ ดังนี้

ธนาคารทรัพกรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในการจัดเก็บรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ โดยดำเนินการจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพทั้งในรูปแบบวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และ ข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการร่วมกันวิจัยพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 

Biobank

ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ หรือ National Omics Center เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์โอมิกส์ โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาตินี้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีโอมิกส์ที่ใช้กับ พืช สัตว์ มนุษย์และจุลินทรีย์เพื่อความชัดเจนและถูกต้องแม่นยำ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง พร้อมคลังข้อมูลขนาดใหญ่ ที่สามารถให้บริการแก่หน่วยงานภายนอกรวมถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

Omics

เทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนาในฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ”เพื่อพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยงกุ้งขาวและพัฒนาเป็นต้นแบบฟาร์มสาธิตในการเลี้ยงกุ้ง และโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาต้นแบบระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อการเลี้ยงลูกปลานิลเชิงพาณิชย์ ระหว่างไบโอเทค บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม)

Aquaculture

Food Ingredient and Food Innovation มีการนำเอานวัตกรรมด้านอาหารและอาหารสัตว์มานำเสนอในรูปแบบของร้านอาหารแบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วย งานวิจัยเครื่องดื่มเวนิกาจากมังคุด ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนสูง ผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่จากแป้งข้าว ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่จากฟลาวมันสำปะหลัง งานวิจัยด้านไข่พลาสเจอร์ไรซ์ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ไข่ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านอาหารและอาหารสัตว์อีกมากมายที่นำมาจัดแสดง รวมถึงจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาอาหารอีกด้วย

FI

งานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (Bio-based Industry) โดยนำเสนอผลงานวิจัยที่เกิดจากการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร (Biomass) มาทำการวิจัยและเพิ่มมูลค่าผ่านกระบวนการทางเคมี หรือใช้จุลินทรีย์ เพื่อสร้างเป็นผลงานวิจัยที่มีมูลค่าสูง

Biobased


งานประชุมวิชการประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference 2019: NAC2018) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มีนาคม 2562 ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation) จัดขึ้นเพื่อเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ในการยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ได้แก่เศรษฐกิจชีวภาพ  (Bioeconomy)เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) และเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy)