องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จัดงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2559” ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บริเวณเชิงเขาตาแป้น อ. มวกเหล็ก จ. สระบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระผู้พระราชทานและพระผู้สืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนม โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน และทอดพระเนตรนิทรรศการ ในวันที่ 27 มกราคม 2559
การจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน อุตสาหกรรมโคนมยุคใหม่ สู่นมแห่งชาติ” โดย ไบโอเทค ได้นำผลงานวิจัยเด่นด้านโคนม ไปร่วมจัดแสดงประกอบด้วย
- การตรวจเพศตัวอ่อนของโคนมแบบมัลติเพลกซ์ หรือ ชุดตรวจ “SexEasy” ซึ่งเป็นการตรวจหาดีเอ็นเอที่จำเพาะต่อโครโมโซมโคเพศผู้ โดยใช้เทคนิคการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอแบบอุณหภูมิเดียว (Loop-mediated Isothermal Amplification) หรือเรียกสั้นๆ ว่า แลมป์ (LAMP) ซึ่งชุดตรวจนี้มีจุดเด่น คือ เป็นชุดตรวจที่ใช้ง่าย ได้ผลแม่นยำและรู้ผลรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียงแค่ 90 นาที สามารถทราบผลการตรวจเพศตัวอ่อนด้วยการอ่านผลโดยการดูจากสีของตะกอนดีเอ็นเอ ซึ่งวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดหลอด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากเชื้อโรคภายนอก และยังเป็นเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก ราคาไม่แพง พกพาสะดวก ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม
- การแช่แข็งตัวอ่อนด้วยวิธี in-straw vitrification สำหรับย้ายฝากตรงในภาคสนาม ซึ่งวิธีการแช่แข็งที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นวิธีการที่ง่าย ราคาไม่แพง และเป็นวิธีการแช่แข็งที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของตัวอ่อนหลังการทำละลายมีค่าสูงเทียบเท่ากับวิธี Cryotop ที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูง นอกจากนี้วิธีการแช่แข็งแบบนี้มีจุดเด่นคือทำให้การย้ายฝากตัวอ่อนในสภาพฟาร์มสามารถทำได้สะดวกขึ้นด้วยเจ้าหน้าที่เพียงแค่คนเดียว
- การตรวจวัดระดับโปรเจสเตอโรนในตัวอย่างน้ำนมเพื่อยืนยันการตั้งท้องและติดตามการทำงานของรังไข่ในโคนม ด้วยวิธีคอมเพททิทีฟ อิไลซ่า (competitive enzyme-linked immunosorbent assay) โดยใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีความจำเพาะเจาะจงสูงต่อฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำ รวดเร็ว มีความไวไม่แตกต่างจากชุดตรวจที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ และมีราคาถูกกว่ามาก รวมถึงไม่ต้องใช้ผู้ชำนาญในการปฏิบัติการ
นอกจากนี้ ภายในงานมีจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนาวิชาการของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ การประกวดนำเสนอแนวความคิดของนักศึกษาในหัวข้อ “ความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมในมุมมอง 3 มิติ คือ อาชีพ ชุมชน สิ่งแวดล้อม” เพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน การประกวดโคนมชิงถ้วยพระราชทาน และ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านโคนม Dairy Asia Launch Meeting อีกด้วย