ไบโอเทค ร่วมจัดนิทรรศการในงานประชุมทางวิชาการเมล็ดพันธุ์พืชแห่งชาติ ครั้งที่ 16

ไบโอเทค สวทช. นำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์ ภายใต้การนำเสนอ “เทคโนโลยีโอมิกส์เพื่อการทดสอบเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธ์พืช” เข้าร่วมจัดแสดงในการประชุมทางวิชาการเมล็ดพันธุ์พืชแห่งชาติ ครั้งที่ 16

seed1 1

ประเทศไทยจัดเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศผู้ส่งออกทั่วโลก ซึ่งการทดสอบเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์พืชมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การค้าเมล็ดพันธุ์ลูกผสม (F1 hybrid seeds) ทั้งในและต่างประเทศมีข้อกำหนดหลักด้านคุณภาพ โดยค่าความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ส่งออกจำหน่ายจะต้องสูงกว่า 98% นักวิจัยไบโอเทคจึงได้พัฒนาชุดตรวจเครื่องหมายโมเลกุลสนิป (SNP) เพื่อใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์พืชที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เพื่อเป็นการเอื้ออำนวยให้บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ไทยสามารถตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ก่อนส่งออกจำหน่ายได้รวดเร็วและด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง และเป็นอีกหนึ่งการส่งเสริมเศรษฐกิจการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทย

seed2

ชุดตรวจเครื่องหมายโมเลกุล SNP เพื่อทดสอบเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์พืชนี้ ใช้เทคโนโลยีการสร้างแผนที่พันธุกรรมความละเอียดสูงจากเครื่องหมายโมเลกุล SNP และวิเคราะห์ตำแหน่งของ SNP ที่ครอบคลุมทั้งจีโนมของตัวอย่าง เพื่อทราบความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์พ่อแม่ และเป็นการทดสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่อาจมีการปนเปื้อนจากเมล็ดที่ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถค้นหาและจีโนไทป์ได้ครั้งละหลายพันเครื่องหมาย สามารถแยกความเป็นเอกลักษณ์ระหว่างสายพันธุ์ได้ และสามารถนำมาใช้ในการการยืนยันความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ได้

seed3

การประชุมทางวิชาการเมล็ดพันธุ์พืชแห่งชาติ ครั้งที่ 16 จัดขึ้นโดย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18 – 21 มิถุนายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์จากทุกภาคส่วนได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์ เพื่อการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช ตลอดจนเพื่อให้นักวิจัยและนักวิชาการที่ทำการวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์ได้มีทิศทางในการศึกษาวิจัยที่ตรงกับปัญหาของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย และตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจผลิตค้าเมล็ดพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม