วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ไบโอเทค-สวทช. ลงพื้นที่จังหวัดน่าน ชมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน59” โดยชุมชน ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวพัฒนาต่อยอดมาจากสายพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกอยู่แล้วในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพัฒนาพันธุ์ดังกล่าวให้มีความต้านทานโรคไหม้กว้างขึ้นและมีกลิ่นหอมด้วย โดยยังคงลักษณะต้นเตี้ยและให้ผลผลิตสูง ซึ่งสามารถใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวได้ ตอบโจทย์การผลิตในยุคแรงงานด้านการเกษตรหายาก และค่าจ้างแรงงานสูง
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดย หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไบโอเทค) มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีด้านโมเลกุลเครื่องหมายในการคัดเลือกและจำแนกสายพันธุ์ข้าว ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในงานวิจัยด้านจีโนม ชีวสารสนเทศ และการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ อันนำไปสู่การผลิตข้าวที่ยั่งยืนของประเทศ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก โดยเน้นการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวของประเทศไทยให้มีคุณภาพดี ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโต เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ดินเค็ม ดินกรด ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาแล้วมากมาย อาทิ ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์กข51 ทนน้ำท่วมฉับพลัน ข้าวพันธุ์ กข18 ต้านทานโรคไหม้ ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เป็นต้น โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าว หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ได้ทำงานร่วมมือทั้งกับกรมการข้าว และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนในแง่ของการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่ของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เอง
ด้าน นายสินธ์ พรหมพิชัย ประธานเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ พันธุ์ดีจังหวัดน่าน กล่าวว่า เครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ พันธุ์ดีจังหวัดน่าน เกิดจากการรวมตัวกันของ กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในจังหวัดน่านทั้งหมด 11 เครือข่าย โดยมีมูลนิธิฮักเมืองน่านเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งจุดเริ่มต้นของการได้มาทำงานร่วมกับทาง ไบโอเทค สวทช. คือ การระบาดของโรคใบไหม้อย่างรุนแรงที่น่าน ทำให้เกษตรกรต้องการข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้ จนกระทั่งทางกลุ่มได้รับพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติในการต้านทานโรคไหม้ และมีคุณภาพการกิน เท่าเทียมกับพันธุ์ กข6 จาก ไบโอเทค สวทช. จำนวน 25 สายพันธุ์ และมีการนำมาทดลองปลูกและคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกร จนกระทั่งเกิดเป็นพันธุ์ข้าว “ธัญสิริน” ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และต่อมา สวทช. ได้มีการสนับสนุนสายพันธุ์ข้าว กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เพื่อยกระดับการผลิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มฯ ซึ่งจังหวัดน่านเป็นกลุ่มแรกๆ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ยฯ และได้มีการนำไปปลูกแพร่หลายในหลากหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ต้านทานโรคและไม่หักล้ม
ต่อมาในปี พศ 2559 กลุ่มฯ ได้รับสายพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ยฯ ใหม่ จำนวน 20 สายพันธุ์ไปปลูกทดสอบในพื้นที่ จ.น่าน เปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวในพื้นที่ (พันธุ์ซิวแดง พันธุ์ธัญสิริน พันธุ์หอมทอง พันธุ์ก่ำเหนียว พันธุ์ก่ำเจ้า พันธุ์แม่โจ้ กข6 และพันธุ์ กข18) โดยเกษตรกรมีการดำเนินงานใน 10 พื้นที่ คัดเลือกได้ 3 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอายุการออกดอกใกล้เคียงกับ กข6 ดั้งเดิม มีการจัดประเมินคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และการกิน โดยมีทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมกันประเมิน คัดเลือกได้ 2 สายพันธุ์คือ เบอร์17 เบอร์ 18 และให้ชื่อว่า “น่าน59” และเพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงาน จึงมีการจัดกิจกรรม “วันเกษตรกรระดับเครือข่าย (Field Day)” เพื่อเชิญชวนเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันฯ ผู้ใหญ่บ้านฯ รวมไปถึงกลุ่มผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ มาเยี่ยมชมประเมินสายพันธุ์ข้าวใหม่ “น่าน59” นายสินธ์ พรหมพิชัย กล่าวเพิ่มเติม
ดร.บุญรัตน์ จงดี หัวหน้าโครงการ การพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. กล่าวว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน59” พัฒนามาจากข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง เพื่อให้มีความต้านทานโรคไหม้กว้างขึ้นและมีความหอม โดยยังคงลักษณะต้นเตี้ยไว้ ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยข้าวพันธุ์น่าน59 สามารถต้านทานโรคไหม้แบบกว้างกับเชื้อทุกกลุ่มในประเทศไทย ต้านทานเชื้อโรคขอบใบแห้งจำนวน 11 กลุ่ม จากทั้งหมด 13 กลุ่ม มีความสูงประมาณ 110 เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ไม่หักล้ม สามารถทนทานต่อแรงลมเนื่องจากมีขนาดลำต้นเตี้ย สามารถใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวแทนการใช้แรงงานคน ข้าวแตกกอดี ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ และในพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตกว่า 1000 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดข้าวเรียว หลังขัดสีไม่แตกหัก มีคุณภาพการหุงต้มดีและมีความหอม นอกจากนี้ยังมีความเหนียวนุ่มคล้ายข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ จ.น่าน ได้ทดลองปลูกและได้ผลผลิตดี ทั้งนี้เป็นการลดการจ้างแรงงานด้านเกษตรที่เริ่มหายาก ได้พันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์เกษตรกรสร้างความเข้มแข็ง รายได้ และความยั่งยืนต่อไป