ไบโอเทค สวทช. นำผลงาน ข้าวสายพันธุ์ใหม่และชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช ร่วมจัดแสดงในงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ ๒๑ จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ไบโอเทค สวทช. นำผลงานวิจัยข้าวสายพันธุ์ใหม่ “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา” กับ “ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา”  “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมสยาม” และชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช  ไวรัส เอ็นพีวี  ร่วมจัดแสดงในโซน การพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิต เกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด ของงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 21  ภายใต้หัวข้อ ข้าวของแผ่นดิน ข้าวถิ่นทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิโลก โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธี ณ ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลงานวิจัยด้านข้าว ข้าวสายพันธุ์ใหม่  ปรับปรุงพันธุ์โดย ไบโอเทค สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือก ทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดี ตรงตามความต้องการ อาทิ “ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา” เป็นข้าวเหนียวรสชาติดี ที่ได้รับสมญานามว่า “ข้าวเหนียวสะเทือนน้ำสะเทือนบก” มีลักษณะขาวเหนียว กลิ่นหอม นุ่มเหนียวเมื่อหุงสุก ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 930 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีและให้ผลผลิตสูง และ “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา” ที่มีลักษณะเมล็ดมีกลิ่นหอม นุ่ม ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรง ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ไม่หักล้มง่าย ต้นสูงปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 838 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกได้แทบทุกพื้นที่ แต่เหมาะกับภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน จะให้ผลผลิตดีที่สุด “ข้าวเจ้าพันธุ์หอมสยาม” เป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย  คุณสมบัติเด่นอีกอย่าง คือ คุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม  ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก จะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ไวรัส เอ็นพีวี  ราบิวเวอเรีย เป็นจุลินทรีย์หรือสารที่สกัดจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถนำไปใช้ทดแทนสารเคมีอันตรายลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้

โดยกิจกรรมที่จัดแสดงในงานจะประกอบด้วย​ พิธีบวงสรวงพระแม่โพสพ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดงของเยาวชนและศิลปิน​ นิทรรศการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม การประกวดธิดาข้าวหอมมะลิโลก ปี 2565 การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งข้าวหอมมะลิโลก- การแข่งขันการจัดทำผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ- การแข่งขันทำข้าวเม่าลีลา

สำหรับการจัดงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 21 มีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ว่าข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะ“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” เป็นข้าวที่ดีที่สุดของโลกและเชื่อมโยงการตลาดข้าวหอมมะลิไทยไปสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ  คุณค่าและคุณภาพของข้าวหอมมะลิโดยเฉพาะที่ผลิตจากพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 9 แสนไร่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม  เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งมีพัฒนาการตั้งแต่กระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ การแปรรูปตั้งแต่ขั้นต้นไปสู่ขั้นสูงที่นำนวัตกรรมมาต่อยอดแบบครบวงจร และเชื่อมโยงการตลาดข้าวหอมมะลิไทยไปสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศทุกช่องทาง นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต แปรรูปข้าว และอุตสาหกรรมด้านอาหารให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไป โดยในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 29 มกราคม 2565   ที่ โดมเวทีกลางลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด