BIOTEC

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีอณูชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพพืช เพื่อนำมาสร้างฐานความรู้ความเข้าใจในระดับชีวโมเลกุล เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงองค์ความรู้ด้านชีวสังเคราะห์ และการนำไปใช้เชิงเภสัชวิทยา และเน้นสร้างองค์ความรู้ด้านสรีรวิทยาของพืชในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิต การผลิตพืชมูลค่าสูง และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

พันธกิจ
– บูรณาการองค์ความรู้ด้านชีวเคมีและสรีรวิทยาพืช ร่วมกับเทคโนโลยีอณูชีวโมเลกุล เทคโนโลยีชีวภาพพืชสมัยใหม่ เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดี

– เป็นพันธมิตรที่ดีในการดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายใน สวทช. และหน่วยงานภายนอก เพื่อตอบโจทย์วิจัยด้านนวัตกรรมการเกษตรยั่งยืน และมีผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจของประเทศ

– พัฒนาองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการสังเคราะห์แป้งและกระบวนการเมตาบอลิสึมของน้ำตาล ทั้งในระดับยีน (เช่น การศึกษากลไกการควบคุมการแสดงออกของยีน) และระดับโปรตีน (เช่น การศึกษาปฏิสัมพันธ์ของโปรตีน) โดยการผนวกวิธีการทางอณูชีววิทยา และชีวสารสนเทศเข้าด้วยกัน

– สืบค้นยีนในเครือข่ายพันธุกรรมควบคุมการชักนำรากสะสมอาหารในมันสำปะหลัง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพืช เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นฐานองค์ความรู้สำหรับการปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลังให้สามารถมีความเป็นเลิศในการสร้างรากสะสมอาหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของมันสำปะหลังในการเป็นพืชอาหารและพลังงานสำคัญของประเทศไทย

– เข้าใจบทบาทของกลุ่มยีนควบคุมขนาดอวัยวะพืชในกระบวนการพัฒนาการของรากสะสมอาหารมันสำปะหลัง เพื่อสร้างแนวทางสำหรับกลไกการปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความโดดเด่นของผลผลิตรากสะสมอาหาร เพื่อตอบสนองต่อความค้องการในการใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบรากสะสมอาหารที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช

• การแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลของไอออนในแวคิวโอลาเมมเบรน การสะสมของโซเดียมไอออนและการตอบสนองทางสรีรวิทยาในอ้อยที่เพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะเครียดของเกลือ

การศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของไอออนในแวคิวโอลาเมมเบรน การสะสมของโซเดียม การปรับตัวทางสรีรวิทยาและสัณฐานวิทยา โดยใช้สายพันธุ์อ้อยจำนวน 2 สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างทางด้านจีโนไทป์ (อ้อยพันธุ์ K88-92 ที่ทนต่อความเครียดของเกลือ และอ้อยพันธุ์ K92-80 ที่อ่อนแอต่อความเค็ม) ในสภาวะความเครียดของเกลือที่ปลูกทดสอบในโรงเรือนปลูกพืช ผลการวิเคราะห์ด้วยการย้อมสี CoroNa green fluorescence พบว่าการเพาะเลี้ยงต้นกล้าอ้อยในสภาวะเกลือโซเดียมที่มีความเข้มข้น 150 mM ไอออนของโซเดียมจะเข้าสู่รากของต้นอ้อยภายใน 3-7 วัน นอกจากนี้อัตราการเคลื่อนย้ายของโซเดียมไออนจากรากไปสู่ยอดอ้อยในพันธุ์ K88-92 ทนเค็ม มีอัตราที่ลดลง ทำให้ปริมาณโซเดียมไอออนในเซลล์ของใบลดลง ภายในเซลล์รากของอ้อยระดับการแสดงออกของยีน ShNHX1 (vacuolar Na+H+ antiporter) ShV-PPase (vacuolar H+-pyrophosphatase) และ ShV-ATPase (vacuolar H+-ATPase) ในส่วนของแวคิวโอลาเมมเบรน มีการแสดงออกเพิ่มสูงขึ้นในต้นอ้อยที่อยู่ภายใต้สภาวะความเครียดของเกลือ นอกจากนี้พบว่าปริมาณน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุกโตสในเนื้อเยื่อของรากอ้อยสายพันธุ์ K88-92 ที่ทนต่อความเค็มมีปริมาณที่สูงขึ้นถึง 10.61 5.58 และ 1.81 เท่าตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ควบคุม (อ้อยพันธุ์ K92-80 ที่อ่อนแอต่อความเค็ม) นอกจากนี้ปริมาณน้ำตาลรวมในเนื้อเยื่อรากและโพรลีนในใบอ้อยสายพันธุ์ K88-92 เพิ่มสูงขึ้น 3.08 และ 1.99 เท่าตามลำดับในอ้อยที่ปลูกในสภาวะที่มีความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์ 150 mM ส่งผลให้สามารถรักษาความสามารถในการปิดเปิดปากใบในกระบวนการสังเคราะห์แสง และการคายน้ำของพืช โดยเฉพาะในอ้อยสายพันธุ์ K88-92 ที่มีศักยภาพสูงกว่าในอ้อยสายพันธุ์ K92-80 กล่าวโดยสรุปคือการกักเก็บโซเดียมไอออนในแวคิวโอลาเมมเบรนของเนื้อเยื่อรากอ้อยเป็นกลไกการทนทานต่อสภาวะความเครียดจากเกลือที่สำคัญของอ้อยสายพันธุ์ K88-92 (ความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการร่วมกับ Panjab University ประเทศอินเดียและ Meijo University ประเทศญี่ปุ่น) [Protoplasma, 2020, 257: 525–536 (IF 2018 = 2.633)]

• การศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหมันของอับละอองเรณูตัวผู้ของข้าวที่เป็นหมันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนโครโมโซมคู่ที่ 2

การศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหมันของอับละอองเรณูของข้าวที่เป็นหมันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (thermo-sensitive genic male sterility, TGMS) โดยทำการศึกษาในประชากรข้าวรุ่นที่ 2 (F2) จำนวน 3 กลุ่มประชากร ที่ได้จากการผสมข้าวเป็นหมันจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ [สายพันธุ์ IR68301S ที่ได้รับจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute, IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์] กับข้าวจาโปนิกา [สายพันธุ์ IR14632 และ IR67966-188-2-2-1] และข้าวอินดิกา (indica) [พันธุ์สุพรรณบุรี 91062] ผลจากการศึกษาพบประชากรรุ่นที่ 2 ที่มีละอองเกสรตัวผู้เป็นหมันและปกติในสัดส่วน 1 ต่อ 3 ในข้าว 3 กลุ่มประชากร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะความเป็นหมันของละอองเกสรตัวผู้ในข้าวถูกควบคุมด้วยยีนด้อย จำนวน 1 ยีน และผลการศึกษาโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลชนิดไมโครแซทเทลไลท์ (simple sequence repeat; SSR marker) และดีเอ็นเอเครื่องหมายชนิด InDel markers พบว่ายีนที่ควบคุมลักษณะความเป็นหมันของละอองเกสรตัวผู้อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 2 ระหว่างเครื่องหมาย RM12676 และเครื่องหมาย 2gAP0050058 และมียีนอื่น ๆ อีกจำนวน 10 ยีนที่อยู่ระหว่างเครื่องหมายทั้ง 2 นี้ โดยพบยีนจำนวน 7 ยีนจาก 10 ยีน ที่มีการแสดงออกในช่อดอกและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งยีนดังกล่าวอาจมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมลักษณะความเป็นหมันของละอองเกสรตัวผู้ในข้าว องค์ความรู้ที่ค้นพบสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เป็นหมันเนื่องจากอุณหภูมิเพื่อการผลิตข้าวลูกผสมให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในอนาคต (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) [Rice Science (2019) 26(3): 1-17, IF 2017 = 1.521]

• การประเมินและการจัดกลุ่มพันธุ์ข้าวตามความสามารถในการทนเค็มของกลุ่มประชากรข้าวโดยใช้ดัชนีด้านสรีรวิทยาแบบหลายพารามิเตอร์เป็นตัวชี้วัด

ความเค็มเป็นสภาวะความเครียดด้านสิ่งไม่มีชีวิตที่ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ลดลง ส่งผลต่อการลดลงของผลผลิต โดยเฉพาะในต้นพืชสายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อความเค็ม เป้าหมายของงานวิจัยนี้ต้องการค้นหาดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการจัดจำแนกสายพันธุ์ข้าวทนเค็มในระยะต้นกล้า โดยใช้ข้าวจำนวน 8 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวกข 31 ข้าวกข 41 ข้าวสุพรรณบุรี 1 ข้าวกข 43 ข้าวกข 49 และข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นฐานพันธุกรรมในการศึกษาวิจัย ต้นกล้าข้าวถูกนำมาปลูกในสารละลายที่มีธาตุอาหารพืชและมีการปรับค่าความเค็มด้วยการเติมเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับ 10 dS m-1 ของค่าการนำไฟฟ้า โดยต้นกล้าข้าวในชุดควบคุมไม่เติมโซเดียมคลอไรด์ มีค่าการนำไฟฟ้า 2 dS m-1 เป็นระยะเวลา 21 วัน ต้นกล้าข้าวปทุมธานี 1 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เป็นพันธุ์อ่อนแอต่อความเค็ม พบใบต้นกล้าข้าวมีลักษณะภาวะบกพร่องคลอโรฟิลล์และใบมีการไหม้โดยต้นกล้าข้าวตายในสภาวะสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ อย่างไรก็ตามพบว่าปริมาณคลอโรฟิลล์ชนิดเอ คลอโรฟิลล์ชนิดบี และสารแคโรทีนอยด์ในต้นกล้าข้าวไรซ์เบอรี่และ ข้าวกข 43 ที่ปลูกในสารละลายที่มีเกลือโซเดียมคลอไรด์ มีการคงตัวของเม็ดสีได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับต้นข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ ภายใต้สภาวะเครียดจากความเค็ม ต้นกล้าข้าวไรซ์เบอรี่ที่ปลูกในสารละลายเกลือโซเดียมคลอไรด์ มีการสะสมกรดอะมิโนชนิดโพรลีนในปริมาณถึง 8.38 เท่า และมีการเจริญเติบโตดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ เมื่อนำข้อมูลแบบหลายพารามิเตอร์ด้านสรีรวิทยามาทำการจัดกลุ่มพันธุ์ข้าวสามารถแบ่งกลุ่มพันธุ์ข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวกลุ่มที่ 1 คือข้าวทนเค็มสูง ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกลุ่มที่ 2 คือ ข้าวทนเค็มปานกลาง ได้แก่ ข้าวกข 31 ข้าวกข 41 ข้าวสุพรรณบุรี 1 ข้าวกข 43 และข้าวกข 49 ข้าวกลุ่มที่ 3 คือข้าวอ่อนแอต่อความเค็ม ได้แก่ ข้าวปทุมธานี 1 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 นอกจากนี้ได้ค้นพบองค์ความรู้ด้านการเพิ่มปริมาณของกรดอะมิโนชนิดโพรลีนเพื่อรักษาแรงดันเต่งของเซลล์ภายใต้สภาวะเครียดจากความเค็ม การสลายตัวของรงควัตถุที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ผลกระทบจากไอออนของเกลือต่อการเจริญเติบโต และการพัฒนาของต้นกล้าข้าวที่ผิดปกติเมื่อเกิดสภาวะความเครียดจากความเค็ม (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) [Physiology Molecular Biology of Plants (2019) 25(2): 473–483, IF 2017 = 1.151]

• การเตรียมต้นกล้ายางพาราในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายใต้ระบบการกระตุ้นการสังเคราะห์แสง เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของต้นกล้ายางพาราหลังการย้ายปลูกในโรงเรือนปลูกพืช

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเป็นเทคนิคการขยายพันธุ์พืชจำนวนมากที่มีความคงตัวทางพันธุกรรม ได้ต้นพืชที่มีความสม่ำเสมอ และมีความแข็งแรง วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มี 2 ระบบ ประกอบด้วยออร์แกนโนเจเนซิส (organogenesis) ซึ่งเป็นการพัฒนาเป็นอวัยวะโดยตรงจากเซลล์ร่างกาย และโซมาติกเอ็มบริโอเจเนซิส (somatic embryogenesis) ซึ่งเป็นการเกิดเอ็มบริโอจากเซลล์ร่างกาย อย่างไรก็ตามสภาวะสิ่งแวดล้อมในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ ธาตุอาหารที่เกินจำเป็น จำกัดการไหลเวียนของอากาศ ความชื้นสูง และมีความเข้มแสงที่ต่ำ ส่งผลให้ลักษณะรูปร่างและสรีรวิทยาของพืชมีความผิดปกติ เช่น ปัญหาการอวบน้ำ (hyperhydricity) การทำงานของปากใบผิดปกติ (stomatal disorder) การสูญเสียความสามารถในการสังเคราะห์แสง และการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เป็นต้น ส่งผลให้การย้ายปลูกต้นกล้ายางพาราที่ผ่านระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ นักวิจัยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชร่วมกับศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ทำการพัฒนาระบบการเตรียมต้นกล้ายางพารา ภายใต้สภาวะที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ที่ส่งเสริมการปรับตัวทางสรีรวิทยา และรูปร่างลักษณะของต้นยางพารา ส่งผลให้มีอัตราการรอดชีวิตสูง หลังการย้ายไปปลูกในโรงเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการผลิตต้นกล้ายางพาราในเชิงพาณิชย์ต่อไป งานวิจัยนี้ได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยางพาราผ่านระบบโซมาติกเอ็มบริโอเจเนซิส จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ ยางพาราพันธุ์ RRIM600 และยางพาราพันธุ์ RRIT413 เป็นเวลา 45 วัน พบว่าการรอดชีวิตของต้นยางพารา พันธุ์ RRIT413 ภายใต้สภาวะที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (ambient CO2) สูงกว่าภายใต้สภาวะที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูง (CO2-enriched conditions) ซึ่งอัตราการรอดชีวิตของต้นยางพาราในระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และในสภาพโรงเรือนปลูกพืช (ex vitro) มีความคล้ายคลึงกัน ในขณะที่ยางพาราสายพันธุ์ RRIM600 ไม่ตอบสนองต่อสภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปรับตัวของต้นกล้ายางพาราที่ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายใต้สภาวะที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นอยู่กับลักษณะทางจีโนไทป์ของต้นยางพาราซึ่งเป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโต การพัฒนา และปรับตัวของต้นยางพาราในสภาพแวดล้อมภายนอกหลังการย้ายปลูก นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ปริมาณน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุกโตส มีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งใช้เป็นตัวบ่งชี้ (indicator) การปรับตัวของต้นยางพาราในสภาพแวดล้อมภายนอกได้ [Plant Cell Tissue and Organ Culture,2017, 1–9 (Impact factor 2016 = 2.002)

งานวิจัยด้านมันสำปะหลัง

• การพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลจีโนมและฐานข้อมูลการแสดงออกของยีนในมันสำปะหลัง

การพัฒนาฐานข้อมูลจีโนมและฐานข้อมูลการแสดงออกของยีนในมันสำปะหลัง ที่มีบทบาทในกระบวนการตรึงคาร์บอนไดออกไซต์ การสังเคราะห์น้ำตาล การสังเคราะห์แป้ง การสังเคราะห์กรดอะมิโน การสังเคราะห์กรดไขมัน การสังเคราะห์นิวคลีโอไทด์ การสร้างผนังเซลล์ และการหายใจของเซลล์ โดยวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากพืชต้นแบบ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ Arabidopsis ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง ละหุ่ง และผักกาดเทอร์นิพ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้งานได้ในเว็บไซต์ (https://bml.sbi.kmutt.ac.th /MeRecon) (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศช. ร่วมมือกับคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) [Scientific Reports (2018) 8:16593: 1-16, IF2017 = 4.122]
นอกจากนี้ได้นำเครือข่ายการใช้คาร์บอนในมันสำปะหลัง (MeRecon) มาพัฒนาต่อยอดโดยมุ่งเน้นศึกษากระบวนการนำน้ำตาลซูโครสไปใช้ในการสังเคราะห์ชีวมวลภายในรากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง และศึกษาการเชื่อมโยงของเมตาบอลิซึมของคาร์บอนในออร์แกเนลล์ภายในเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะ เพิ่มการเชื่อมโยงของเมตาบอลิซึมของคาร์บอนในออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ภายในเซลล์ และเมื่อนำข้อมูลทางสรีรวิทยา ชีวเคมีและอัตราการเปลี่ยนแปลง ชีวมวลที่ได้จากการปลูกเปรียบเทียบมันสำปะหลังจำนวน 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตรากสะสมอาหารและปริมาณแป้งที่แตกต่างกัน คือ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 (KU50) และพันธุ์ห้านาที (HN) สามารถสร้างเป็นเครือข่ายเมตาบอลิซึมการใช้คาร์บอนที่จำเพาะของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ (rMeCBM-KU50 และ rMeCBM-HN) ผลการวิเคราะห์อัตราการไหลผ่านของคาร์บอนในแต่ละปฏิกิริยาชีวเคมีในเครือข่ายแสดงให้เห็นว่ามันสำปะหลังทั้ง 2 พันธุ์ มีการนำคาร์บอนไปใช้เพื่อการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรตและปริมาณพลังงานที่ใช้แตกต่างกัน ผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ภายใต้หัวข้อเรื่อง Understanding carbon utilization routes between high and low starch-producing cultivars of cassava through Flux Balance Analysis (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ร่วมมือกับคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง) [Scientific Reports (2019) 9:2964: 1-15, (IF2017 = 4.122)]

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช

สุริยันตร์ ฉะอุ่ม

สุริยันตร์ ฉะอุ่ม

นักวิจัย (หัวหน้าทีมวิจัย)

อมรทิพย์ เมืองพรหม

อมรทิพย์ เมืองพรหม

นักวิจัยอาวุโส

พัชร ประเสริฐกุล

พัชร ประเสริฐกุล

ผู้ช่วยวิจัย

น้ำเพ็ชร แสงอาวุธ

น้ำเพ็ชร แสงอาวุธ

ผู้ช่วยวิจัย

005071

เกศินี ทองมาก

ผู้ช่วยวิจัย

ดาวนภา ฉุ้งลู้

ดาวนภา ฉุ้งลู้

ผู้ช่วยวิจัย

800145

สุเมธ คงภักดี

ผู้ช่วยวิจัย

ณัฐวดี จินตโกวิท

ณัฐวดี จินตโกวิท

นักวิจัยหลังปริญญาเอก

ฐาปนีย์ สามพุ่มพวง

ฐาปนีย์ สามพุ่มพวง

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

ธัญญาพร โสรจสฤษฎ์กุล

ธัญญาพร โสรจสฤษฎ์กุล

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืช
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์: 02-564-6700