ดร.วรรณพ วิเศษสงวน
ผู้อำนวยการไบโอเทค ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2563

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ประจำปี 2563 จากผลงาน “ผู้สร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาอาหารหมักไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ทางอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับพันธมิตรสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในการผลิตและแปรรูป ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสร้างอุตสาหกรรมอาหารใหม่มูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม” โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2563 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล 

Outstanding Scientist 1

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน มีความสนใจและเชี่ยวชาญทางด้านเคมีอาหาร เน้นโปรตีนและเอนไซม์ ในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ดร.วรรณพ ได้ดำเนินการวิจัยทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางวิชาการในเชิงลึกและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารของไทย การวิจัยเน้นการใช้ประโยชน์เซลล์จุลินทรีย์และเอนไซม์หรือสารที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้น ในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารหมักของไทย นอกจากนี้ ดร.วรรณพ และคณะ ยังใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบทางการเกษตรและวัสดุเศษเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารชนิดต่าง ๆ สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมอาหารใหม่มูลค่าสูง ช่วยสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารรูปแบบใหม่ให้กับประเทศ

Outstanding Scientist 2

โดยที่ผ่านมา ดร.วรรณพ วิเศษสงวน และคณะ มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จำนวน 253 เรื่อง โดยผลงานวิจัยตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิงมากกว่า 7,963 ครั้ง มีค่า h-index เท่ากับ 51 (อ้างอิงจากฐานข้อมูล ISI Web of Science ตั้งแต่ปี 2543-2563) นอกจากนี้ ดร.วรรณพ ยังได้ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ (สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ความลับทางการค้า) จำนวน 32 เรื่อง ซึ่งผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปให้บริษัทเอกชนใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 9 เรื่อง อาทิ การพัฒนากระบวนการเร่งหมักนํ้าปลาโดยใช้เอนไซม์ การพัฒนาต้นเชื้อจุลินทรีย์แลคติคเพื่อใช้ในการหมักผักกาดดองเปรี้ยว กระบวนการผลิตเอนไซม์เพนโตซาเนสจากเชื้อราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การใช้เชื้อในการผลิตต้นเชื้ออาหารหมักสัตว์ กระบวนการผลิตนํ้าส้มสายชูหมักจากผลไม้ในขั้นตอนเดียวและสูตรจุลินทรีย์สำหรับการผลิตนํ้าส้มสายชูหมัก การผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาวเพื่อการประยุกต์ใช้ในอาหารและอาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยของ ดร.วรรณพ ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการก่อให้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่ การสร้างโรงงานผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ชีวภาพชนิดใหม่ รวมทั้งการสร้างธุรกิจอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพรูปแบบใหม่ให้กับประเทศ ผลงานวิจัยของ ดร.วรรณพ จึงไม่เพียงช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการด้านอาหาร แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ตลอดจนการใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่บนฐานการใช้วัตถุดิบที่มีเพียงการแปรรูปขั้นต้น ขาดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ให้สามารถปรับตัวและพลิกฟื้นมุ่งสู่การเป็นครัวของโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างมาตรฐานและอาหารปลอดภัยบนฐานการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

Outstanding Scientist 3

โดยในงานนี้นอกจาก ดร.วรรณพ แล้ว ยังมีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นอีกท่าน คือ ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิศวกรรมเคมี จากผลงานเรื่อง “เครื่องปฏิกรณ์แบบหลายหน้าที่ (Multifunctional reactor) และการรวมกระบวนการ (Process intensification) สำหรับอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี และไบโอรีไฟเนอรี”

Outstanding Scientist 4

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในปีนี้ ตกเป็นของ รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (คนซ้ายมือ) จากผลงาน “การใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาปฏิกิริยาเคมีและการพัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์” และ ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) (คนขวามือ) จากผลงาน “วัสดุไฮบริดเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่”

Outstanding Scientist 5