ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ใน สปป. ลาว จากการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ โดยไบโอเทค สวทช.

ไบโอเทค สวทช. โดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (Rice Gene Discovery Unit) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่าง ไบโอเทค และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (Marker Assisted Selection; MAS) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบันของประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา โดยการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติ และสถานที่วิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากร และการทำงานวิจัยร่วมกัน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ไบโอเทค สวทช. และ Generation Challenge Programme

HTDK8 2

ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวหอม ผลผลิตสูง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีความต้านทานต่อโรคไหม้ พัฒนาพันธุ์โดย National Agriculture and Forestry Research Institute หรือ NAFRI ประเทศ สปป. ลาว ได้จากการผสมระหว่างข้าวเหนียวท่าดอกคำ 8 (TDK8) ผลผลิตสูง และนิยมปลูกกันมากใน สปป. ลาว กับข้าวเหนียวหอม ต้านทานโรคไหม้ สายพันธุ์ (RGD10033-77-MAS-22) ที่พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ได้รับสนับสนุนจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค สวทช. ในการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (MAS) มาใช้ในการคัดเลือกลักษณะความหอม และยีนต้านทานโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นลักษณะดีเด่นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีอายุ 130-135 วัน มีลักษณะต้นเตี้ยปานกลาง ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้สามารถปลูกได้ทั้งในนาปรัง และนาปี เหมาะสมในการปลูกในภาคกลาง ภาคใต้ และบางเขตในภาคเหนือ ของ สปป. ลาว เช่น แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไซยะบุรี อุดมไซ และหลวงพระบาง เป็นต้น

HTDK8 1

ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรของสปป. ลาว โดยศูนย์ค้นคว้าวิจัยข้าว กำลังผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อส่งมอบให้กับเกษตรกรใน 5 แขวงเป้าหมาย ได้แก่ แขวงไซยะบุรี แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ และคำม่วน เพื่อปลูกและผลิตขายในเชิงพาณิชย์ต่อไป