ดร. นันท์ชญา วรรณเสน นักวิจัยไบโอเทค ได้รับคัดเลือกสนับสนุนทุนวิจัยจาก Transnational Access Activities (TNA) : Veterinary Biocontained Research Facility Network (VetBioNet)

 โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์และสารคัดหลั่งของพาหะโรคเช่นค้างคาวผลไม้ สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคทางระบบประสาทที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์แพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เมื่อปีพ.ศ. 2541-2542 โดยพบผู้ป่วยเกือบ 300 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมสุกรของมาเลเซีย

          เนื่องจากสุกรเป็นพาหะที่สามารถแพร่เชื้อไวรัสนิปาห์สู่มนุษย์ได้ อีกทั้งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนทั้งสำหรับมนุษย์และปศุสัตว์ ในขณะที่วัคซีน PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) มีใช้อย่างแพร่หลายและมีความปลอดภัยในการนำไปใช้ในสุกร ดร. นันท์ชญา วรรณเสน นักวิจัยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค และ Prof. Simon Graham และ Dr. Rebecca McLean จาก The Pirbright Institute (TPI) สหราชอาณาจักร มีความสนใจที่จะนำวัคซีน PRRS ไปพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำส่งโปรตีนแอนติเจนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวม ที่สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสนิปาห์ และไวรัส PRRS ในเข็มเดียว (bivalent vaccine) โดยทีมวิจัยไบโอเทคจะใช้ความเชี่ยวชาญในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัส PRRS และดำเนินการร่วมกับทีมวิจัยจาก TPI ในการทดสอบคุณสมบัติของไวรัส PRRS เพื่อใช้เป็นเวกเตอร์ไวรัส (viral vector) ที่สามารถนำส่งโปรตีนของไวรัสนิปาห์ เพื่อใช้เป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคทั้ง โรค

  โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก The Transnational Access Activities (TNA) : Veterinary Biocontained Facility Network (VetBioNet) เป็นมูลค่า 61,350 ปอนด์ (2,504,000 บาท) โดยสนับสนุนการทดสอบวัคซีนในสุกรในห้องปฏิบัติการระบบความปลอดภัยระดับที่ 3 (Animal Biosafety Level 3 – ABSL3) ซึ่งใช้สำหรับการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ Animal and Plant Health Agency, UK และการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง