นักวิจัยไบโอเทค สวทช. ร่วมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้งานชุดตรวจแบบรวดเร็ว ในรูปแบบ strip test และ คู่มือการตรวจสอบโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาด”

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565 ดร.อรประไพ คชนันทน์ และ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล  ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เป็นวิทยากรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้งานชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test และ คู่มือการตรวจสอบโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาด”  โดยมีนายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรม ณ ห้องประชุม สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ปัจจุบันทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือในการอ่านผล สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ และมีความแม่นยำ ความจำเพาะเจาะจง ความไว ใกล้เคียงกับชุดตรวจอิไลซ่าที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR พบว่า มีความแม่นยำร้อยละ 95 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 89 สำหรับชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1. นำใบพืชมาบดในบัฟเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2. จุ่มตัว  Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3. อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค ทีมวิจัยได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และได้ส่งมอบชุดตรวจให้กับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนไปทดสอบการใช้งานจริงแล้ว

ภายในงานได้มีการจัดฝึกอบรมภาคบรรยายและปฏิบัติการ เรื่อง “การตรวจวินิจฉัย เชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test และคู่มือการตรวจสอบโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาด โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ประกอบด้วย นักวิชาการเกษตรจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สภาเกษตรกร อาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร เครือข่ายผู้ประกอบการโรงแป้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จำนวน 31 คน และผู้สนใจประชุมออนไลน์ผ่านระบบ zoom จำนวน 35 คน  ซึ่งได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการนำชุดตรวจ Strip test ไปช่วยตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมถึงนำไปใช้ในกระบวนการผลิตและคัดเลือกต้นพันธุ์สะอาดปลอดเชื้อต่อไป ในการนี้ ไบโอเทค ได้ส่งมอบชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประเมินผลการใช้งานจริงในการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังในภาคสนามอีกด้วย