ไบโอเทค นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งในมุมต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยีฐานที่พร้อมผลิต ต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ตลอดจนนักลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชน

เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ไบโอเทค จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งในมุมต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยีฐานที่พร้อมผลิต ภายใน 3-5 ปี ต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ  นำโดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ประธานคณะกรรมการบริหาร ตลอดจนนักลงทุนและผู้ที่สนใจทั้งจากภาครัฐและเอกชน กว่า 100 คน ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว. อว.) เป็นประธานเปิดงาน และให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหาร และนักวิจัย เพื่อให้ผลงานของไบโอเทคเป็นที่ประจักษ์ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ทิศทางงานวิจัย/โอกาสและความท้าทายของไบโอเทค โดยเริ่มจากการนำเสนอภาพรวม วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์การดำเนินงานของไบโอเทค โดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค  จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมพูดคุยและรับฟังภาพรวมด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กับนักวิจัยไบโอเทค ตลอดจนชมตัวอย่างผลงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมจากกลุ่มวิจัยของไบโอเทค

การบรรยายแบบ TED talk เรื่อง ปรับมุมมองให้เห็นโอกาส “Chance to Success” โดย คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ เรื่อง Speed of Commercialization for Thai Biotech Industry “From Research to Build the Practical Process, Standardized Product & Real Business”  โดย คุณรักชัย เร่งสมบูรณ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด

นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งในมุมต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยีฐานที่พร้อมผลิตใน 3 – 5 ปี ในรูปแบบของการ pitching เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยได้นำเสนอผลงาน และไอเดียต่อนักลงทุนที่เข้าร่วมประชุม โดยมีผลงานนำเสนอ ได้แก่

1. SmartBioPep: Platform ค้นหา Bioactive peptide เพื่อผลิต Functional ingredient โดย AI-based machine learning และ Big data analysis เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีชุดข้อมูลสำคัญ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาดก่อนนำไป ลงทุนจริง ช่วยลดระยะเวลาการทำวิจัย และความ เสี่ยงในการลงทุน นำเสนอโดย ดร.อภิรดี หงส์ทอง

2. บริษัทสตาร์ทอัพ BioDetection ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชุดตรวจเชื้อก่อโรคในสัตว์เศรษฐกิจ พืช และคน โดยใช้เทคนิคแลมป์ (LAMP) เป็นเทคโนโลยีฐาน เพื่อช่วยส่งต่อชุดตรวจไปสู่บริษัทหรือผู้ที่สนใจ รวมทั้ง ให้บริการรับผลิตชุดตรวจด้วยเทคนิคแลมป์และเทคนิค ทางชีวโมเลกุลอื่นๆ ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ พร้อมกันนี้ได้นำ PigXY-AMP ชุดตรวจโรค African Swine Fever ในสุกร มาร่วมแสดง นำเสนอโดย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

3. MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxins) หลายชนิดในครั้งเดียว โดยชุดตรวจนี้ใช้หลักการ lateral flow strip test ที่ง่ายต่อการตรวจมาผนวกกับเทคนิคไมโครอะเรย์ที่สามารถใช้ตรวจสารพิษได้ทีละหลายชนิดพร้อมกัน สามารถแสดงผลการตรวจได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทราบผลการตรวจได้รวดเร็ว ภายในเวลา 30 นาที สะดวก พกพาได้ สามารถใช้ตรวจตัวอย่างนอกห้องปฏิบัติการใช้งานง่าย ผู้ทดสอบไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญ นำเสนอโดย ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ

4. VipPro ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชเพื่อเกษตรปลอดภัย (Safe & effective Bio-insecticide) มีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูพืชกลุ่มหนอนผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้ข้าวโพด หนอนใยผัก หนอนคืบ เป็นต้น ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่ก่อความเสียหายต่อพืชหลายชนิดทั้ง ผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร สามารถใช้ทดแทนสารเคมีฆ่าแมลง ลดการนำเข้า และส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม นำเสนอโดย ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย

5. SynBIO Platform: Designer microbes for BCG Industry การพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อผลิตสารชีวเคมีมูลค่าสูงด้วยระบบจุลินทรีย์ โดยทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อผลิตสารชีวเคมีมูลค่าสูงด้วยระบบจุลินทรีย์เพื่อการใช้งานนอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ สารหอมระเหยตระกูลเทอร์ปีนจากไม้กฤษณาและไม้แก่นจันทน์ กรด D-lactic acid ประสิทธิภาพสูงใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกลุ่มสารประกอบแคโรทีนอยด์ เป็นต้น นำเสนอโดย ดร.วีรวัฒน์ รังกุพันธุ์

6. ForceFlow : Platform การใช้เอนไซม์ช่วยผลิต Active Pharmaceutical Ingredient (API) โดยนำเอนไซม์จากทรัพยากรธรรมชาติมาปรับปรุงในแพลทฟอร์มที่มีการผสมผสานหลากหลายสาขา เช่น การวิศวกรรมเอนไซม์ การใช้คอมพิวเตอร์ และ machine learning ในการช่วยออกแบบเอนไซม์ และการทดสอบทางเคมีสังเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้ได้เอนไซม์ชนิดใหม่ที่สามารถเข้ามาช่วยในการสังเคราะห์ API ได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความจำเพาะ มีศักยภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเสนอโดย ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์

7. Programmable antivirals: platform สร้างยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างยาต้านไวรัสตัวใหม่ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยใช้รหัสพันธุกรรมของไวรัสในการโปรแกรมโมเลกุลยาให้ทำลายไวรัสอย่างจำเพาะ นอกจากนี้ platform ยังมีระบบนำส่งยาที่สามารถออกแบบให้เลือกนำส่งยาเข้าเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของไวรัสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยาและลดผลข้างเคียง รวมทั้งสามารถดัดแปลงเพื่อใช้กับไวรัสได้หลากหลาย นำเสนอโดย ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก

8. Platform พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการระบาดของไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะ โดยทีมวิจัยใช้ความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความสามารถในการเป็นพาหะของยุงร่วมกับการตัดต่อพันธุกรรมยุง ในการพัฒนาเป็นนวัตกรรมการควบคุมโรคที่มียุงเป็นพาหะโดยการแทนที่ประชากรยุงในพื้นที่ ด้วยยุงที่ไม่สามารถเป็นพาหะนำโรคได้โดยอาศัย Gene drive technology ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพจึงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่ไม่มีความจำเพาะ รวมไปถึงยังคงรักษาสมดุลทางระบบนิเวศด้วย นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวนยังสามารถนำไปปรับใช้กับแมลงชนิดอื่นๆ เช่น ใช้ในการควบคุมแมลงนำโรคพืช และปรับปรุงคุณภาพแมลงทางการเกษตรให้มีคุณสมบัติตามต้องการได้อีกด้วย นำเสนอโดย ดร.ณัฐพงษ์ จูพัฒนกุล

9. Platform เพื่อการรับมือการระบาดของไวรัสอย่างครบวงจร โดยทีมวิจัยอาศัยประสบการณ์ องค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างไวรัสเลียนแบบธรรมชาติให้เกิดขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการ โดยไวรัสดังกล่าวสามารถถูกปรับให้มีลักษณะเป็นไปตามต้องการ ปัจจุบันมีรูปแบบไวรัสที่ออกแบบไว้ใช้งานในลักษณะของไวรัลเวกเตอร์แล้วกว่า 10 ชนิด ที่สามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม เช่น เป็นวัคซีน หรือ ไวรัสตัวแทน ในกรณีที่มีการระบาดของไวรัสที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในอนาคต ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรับมือของโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอโดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา