โครงการ “Preliminary process development for recombinant porcine interferon production” โดย น.ส. เบญจมาศ ชุติวิทูรชัย ผู้ช่วยวิจัย และ ดร.พีร์ จารุอำพรพรรณ หัวหน้าทีมวิจัย ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี (AVCT) กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค ร่วมกับ Prof. Colin Robinson, School of Biosciences, University of Kent, UK เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ The establishment of biopharmaceutical and animal vaccine production capacity in Thailand and neighbouring South East Asian countries ระหว่าง BIOTEC และหน่วยงานชั้นนำในสหราชอาณาจักรนำโดย University of Kent (งบประมาณรวม 153 ล้านบาท) ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตสารชีวภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่ออุตสาหกรรมสุขภาพและการปศุสัตว์ โดยคณะผู้วิจัยในโครงการ ร่วมกับทีมวิจัย IMCT จากไบโอเทค ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ที่สามารถผลิต recombinant porcine interferon-alpha 1 (poIFN) ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยเป็นระบบการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่มีอิสระในการดำเนินการ 100% (full freedom-to-operate) ซึ่งผลการทดสอบในระดับเซลล์ (cell-based assay) แสดงให้เห็นว่า recombinant poIFN จากยีสต์นี้มีฤทธิ์ต้านไวรัสในวงกว้าง เช่น VSV, PRRSV, PEDV ในระดับที่เทียบเคียงได้กับ recombinant interferon ที่ผลิตได้จากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีราคาสูง นอกจากนี้ผลจากการทดลองใช้งานเบื้องต้น (preliminary farm trial) ในฟาร์มสุกรโดยสัตวแพทย์ยังพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยลดการสูญเสียสุกรจากโรคระบาดและสามารถคงกิจการฟาร์มไว้ได้
ในโครงการ Preliminary process development for recombinant porcine interferon production นี้ ทีมวิจัยจะมุ่งพัฒนากระบวนการผลิต recombinant porcine interferon เพื่อขยายขนาดการผลิตในอนาคต โดยในโครงการนี้จะใช้ระบบถังปฏิกรณ์ชีวภาพขนาดเล็กแบบอัตโนมัติ (ambr250 automated bioreactor system) ที่สามารถทดสอบหลายสภาวะได้ในคราวเดียวและให้ข้อมูลที่สามารถนำไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตในถังหมักขนาดใหญ่ขึ้นอย่างแม่นยำ โดยนักวิจัยไทยจะเดินทางไปปฏิบัติการวิจัยที่ University of Kent และยังถือเป็นโอกาสที่ทีมวิจัยจะได้หารือกับ University of Kent และ University College London เรื่องการสร้างแพลตฟอร์มผลิตโมเลกุลมูลค่าสูงจากยีสต์ โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์และนำไปสู่การทดลองในสัตว์ทดลองและการยื่นขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ในอนาคต
International Veterinary Vaccinology Network (IVVN) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ป้องกันการก่อเชื้อโรคระบาดในปศุสัตว์ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMICs) โดยทุนนี้จะสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างห้องปฏิบัติการครอบคลุมการเดินทาง ที่พัก และสารเคมีเพื่อส่งเสริมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างห้องปฏิบัติการ