เมื่อวันพุธที่12กรกฏาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทคสวทช. พร้อมด้วย ดร.สุรพงษ์ ขุนแผ้ว นักวิจัยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “ไวรัสและโรคอุบัติใหม่ : ความท้าทาย และ ความพร้อมในการรับมือ” ให้ความรู้แก่คณะนักเรียนนายร้อยและข้าราชการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในโอกาส ทัศนศึกษา พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ พระตำหนักบ้านสวนปทุม ณ พระตำหนักบ้านสวนปทุม จังหวัดปทุมธานี
ในโอกาสนี้ไบโอเทคได้ร่วมจัดนิทรรศการประกอบการนำเสนอผลงานวิจัยใน 3 เรื่อง ได้แก่
(1)การพัฒนา วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก NASTVAC ของ สวทช.
(2)การพัฒนา “Pseudotype virus หรือ ไวรัสตัวแทน” สำหรับการทดสอบภูมิคุ้มกันต่อสูตรวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 แบบเชิงรุก
(3) การพัฒนาชุดตรวจ “COVYD-19 Ab test kit (ELISA)”สำหรับตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกัน โควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ แบบรวดเร็ว
“ไวรัสและโรคอุบัติใหม่ : ความท้าทาย และ ความพร้อมในการรับมือ”
ไวรัสเป็นเชื้อจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อสำคัญหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อรุนแรงที่อุบัติใหม่จากการติดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน การอุบัติขึ้นของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกเป็นตัวอย่างของผลกระทบจากไวรัสที่สามารถสร้างผลกระทบต่อประชากรมนุษย์ในหลายมิติ เช่น ด้านสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ และ การศึกษา การเปลี่ยนแปลงต่างๆของธรรมชาติ เช่น ภาวะโลกร้อน มลภาวะต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสในธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากขึ้นส่งให้ให้มีความเสี่ยงต่อการอุบัติขึ้นของโรคระบาดชนิดใหม่ในอนาคตอันใกล้ การสร้างความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ นวัตกรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คณะผู้วิจัยได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ ระบบการสร้างอนุภาคไวรัสขึ้นในหลอดทดลองโดยการปรับสารพันธุกรรมของไวรัสให้หมดความรุนแรงเพื่อใช้ไปต้นแบบของวัคซีน โดยไวรัสที่ได้สร้างขึ้นสำเร็จแล้วได้แก่ ไวรัสโคโรนา ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ ไวรัสในสัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถต่อยอดเพื่อใช้ศึกษาหายาต้านไวรัสชนิดใหม่จากยาแผนปัจจุบัน หรือ สมุนไพรไทย โดยเป็นไวรัสตัวแทนที่ไม่เป็นอันตรายต่อนักวิจัยที่ใช้ในการศึกษา นอกจากนี้เทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากจีโนมของไวรัสจะช่วยสร้างเครื่องมือให้สามารถนำไวรัสไปใช้ประโยชน์เป็นระบบนำส่งยา หรือ โปรตีนเข้าสู่ร่างกายเพื่อเป็นการรักษาในลักษณะมุ่งเป้าได้ ในด้านความมั่นคงเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มองค์ความรู้ ลดความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีผิดวัตถุประสงค์จากการนำไวรัสไปสร้างเป็นอาวุธชีวภาพได้ ด้วยความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในธรรมชาติ จะช่วยให้ประเทศพร้อมรับมือกับความท้าทายดังกล่าวจากธรรมชาติได้