ดร.อรประไพ คชนันทน์ และ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์
ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test ซึ่งสามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการหรือเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ
สำหรับชุดตรวจ Strip test มีความแม่นยำร้อยละ 96 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91 ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1) นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2) จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3) อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค
นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เผยว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โรคใบด่างมันสำปะหลังได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก โดยต้นตอเกิดจากเกษตรกรนำท่อนพันธุ์จากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่และไม่ทราบว่าต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นติดโรคใบด่าง ดังนั้น การมีองค์ความรู้และการพัฒนาชุดตรวจโรคใบด่าง ที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. พัฒนาขึ้นมา เพื่อนำไปให้เกษตรกรสามารถใช้ตรวจได้ด้วยตัวเกษตรกรเองและรู้ผลได้รวดเร็วภายใน 15 นาที จะช่วยช่วยลดผลกระทบจากโรคใบด่างลดลงได้
ซึ่งช่วงการระบาดของโรคใบด่าง ทีมถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. นำชุดตรวจอบรมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ เพื่อนำไปใช้คัดกรองต้นมันสำปะหลังในแปลงได้ทันที ซึ่งชุดตรวจโรคใบด่างจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า แปลงมันสำปะหลังของตนจะเป็นแปลงที่ติดโรคใบด่างหรือไม่ และหากพบว่าติดโรคจะสามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียงได้ลดความเสียหายได้
หน่วยงานภาครัฐและแอกชน ตลอดจนเกษตรกรที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3342