เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 08.45 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ – มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จัดงานประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2566 เรื่อง “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” โดยได้รับเกียรติจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายรัฐกับอนาคตข้าวไทย” โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวปราศรัย และ ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ในงานดังกล่าว ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค.) สวทช. ได้เข้าร่วมงานด้วย
การจัดงานประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” โดยในงานมีเสวนา 2 หัวข้อ ได้แก่ “ชาวนาไทยในอนาคต” และ “อนาคตของการค้าข้าวไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมข้าวไทยและชาวนารุ่นใหม่ร่วมเป็นวิทยากร
และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในปีนี้ มีผลงานของ สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ร่วมจัดแสดง ได้แก่ “ไลน์บอทโรคข้าว” ซึ่งเป็นโมบายแอปพลิเคชันสำหรับการวินิจฉัยโรคข้าวครอบคลุม 10 โรค และให้คำแนะนำในการป้องกันและกำจัด พัฒนาโดยเนคเทค ไบโอเทค และภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันได้อบรมการใช้ไลน์บอทโรคข้าวให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.อุดรธานี จ.นครพนมกว่า 3,000 คน ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตจากการระบาดของโรค ลดการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และลดปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีของเกษตรกร
“ข้าวหอมสยาม” เป็นข้าวหอมนุ่ม ไวต่อช่วงแสง เมล็ดมีกลิ่นหอมคล้ายข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 มีลำต้นที่แข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ความสูงปานกลาง สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแล้ง (ระยะแตกกอ) และต้านทานโรคไหม้ในระดับดี ให้ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 799.4 กิโลกรัมต่อไร่ และได้รับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
“ข้าวหอมสยาม 2” เป็นข้าวเจ้าหอมนุ่มไวต่อช่วงแสง มีคุณสมบัติเหมือนพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน และต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ กข15 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 639 กิโลกรัมต่อไร่ ได้รับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ซึ่งทั้งสองพันธุ์ได้เริ่มเผยแพร่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายแล้ว