ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานจัดงาน “การสัมมนาวิชาการนานาชาติพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ครั้งที่ 4: วาระแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ” (The 4th Thailand International Symposium on Natural History Museums: Era of Ecosystem Restoration หรือ TISNHM) กับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านวิชาการ ยกระดับการจัดการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในงานวิจัยและงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ระหว่างสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา เผยแพร่ และเก็บรักษาองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาต่อไป
โดย ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสะอาด หัวหน้าทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. เป็นผู้แทนรับมอบโล่ขอบคุณหน่วยงานร่วมจัดงานครั้งนี้จากหัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. พร้อมได้นำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านธรรมชาติวิทยาร่วมจัดแสดงบริเวณงาน อาทิ ผลงานการเลี้ยงเชื้อเพื่อผลิตวัสดุจากไมซีเลียม นวัตกรรมวิปโปร (VipPro) ควบคุมแมลงศัตรูพืช เป็นต้น งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2566 ณ ห้องแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ การส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ การจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการสร้างเวทีให้นักวิจัยมาเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา ตลอดจนเป็นการสร้างพันธมิตรในการจัดการข้อมูลความรู้และสื่อสารงานวิชาการทั้งระหว่างบุคคลและหน่วยงาน การสัมมนาฯ ไม่เพียงแต่เป็นการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้จากงานวิจัยต่อสาธารณะแล้ว แต่ยังเป็นเวทีสำหรับนักธรรมชาติวิทยารุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยได้ยกระดับองค์ความรู้ของนักวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดได้ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ งาน TISNHM ปีนี้ มีผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน โดยมีการนำเสนอผลงาน ภาคบรรยายทั้งหมด 58 เรื่อง จาก 10 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 11 กลุ่มย่อย และภาคโปสเตอร์ 23 เรื่อง จาก 4 ประเทศ นอกจากนี้ การสัมมนายังเปิดโอกาสให้นักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ได้มานำเสนอผลงานวิจัยของตนเอง และยังมีการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยาด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน คลิก https://tisnhm.nsm.or.th/