เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 (19th NSTDA Annual Conference : NAC2024) ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน ณ อาคารศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายไชยรัตน์ บุตรเทพ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พล.ต.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.ต.ยุทธนา จอนขุน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมอดีตผู้บริหาร คณะผู้บริหารและพนักงานกระทรวง อว. และ สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ
งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 (ครั้งที่ 19 (19th NSTDA Annual Conference : NAC2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และผลงานวิจัยพัฒนาที่ สวทช. ดำเนินการวิจัยเองและที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร โดยได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน BCG Implementation เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กำหนดไว้ใน 4 มิติ” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม-เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ-เพิ่มการพึ่งพาตนเอง-สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยสู่ความยั่งยืน
โดยมีการนำเสนอในรูปแบบของการสัมมนาแบบ onsite กิจกรรมเยี่ยมชม Open House แบบ online และนิทรรศการทั้งในรูปแบบ onsite และ online
ในปีนี้ไบโอเทคร่วมนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
การสัมมนาเรื่อง วัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย : ความหวังของอนาคตสุกรไทย, บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน, การยกระดับการผลิตสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้โมเดล BCG Implementation
นิทรรศการ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นำเสนอผลงาน โครงการความร่วมมือชื่อว่า “เพื่อนสวนพฤกษ์” ประสานและเป็นกลไกทำงานกับ กรมป่าไม้ คือ ผาแดง (โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดตาก)
กลุ่ม BCG Imp / ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นำเสนอผลงาน DAPBot คู่คิดติดปลายนิ้วคนเกษตร, SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร
กลุ่ม BCG Imp / การพึ่งพาตนเอง นำเสนอผลงาน การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ
กิจกรรมเยี่ยมชม Open House ไบโอเทคเปิดบ้านให้เข้าเยี่ยมชม 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
Plant Factory (โรงงานผลิตพืช), ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center : NOC), โรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมศัตรูพืช, ห้องปฏิบัติการพลังงานและเคมีชีวภาพ (Bio Refinery), ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC), ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาคาร BIOTEC Pilot Plant Module4
สำหรับงาน NAC2024 ปีนี้ จัดระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2567 จัดออนไซต์เต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ภายในงานประกอบด้วย มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ อาทิ การจัดสัมมนา 48 หัวข้อ , การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม 57 ผลงาน และกิจกรรม Open House ที่ สวทช. พร้อมเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน และ NAC Market ตลาดสินค้านวัตกรรมและสินค้าชุมชนมากมายมาจำหน่ายในราคาพิเศษ
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nstda.or.th/nac และร่วมกิจกรรมภายในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามโทร. 02564 8000