ไบโอเทค นำเสนองานวิจัยวัคซีนป้องกันโรค ASF ในสุกร พร้อมบูทชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช แก่คณะนักบริหารจากกระทรวงเกษตรฯ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการเกษตร แก่คณะผู้เข้าอบรมโครงการนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่นที่ 110 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยด้านการเกษตรของ สวทช. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา ณ ห้องโถงนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

โอกาสนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ได้ให้บรรยายเรื่อง “การวิจัยพัฒนาวัคซีนโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African swine fever : ASF)” แก่คณะเยี่ยมชม ซึ่งการพัฒนาวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทยเพื่อเกษตรกรไทย นับเป็นวัคซีนความหวังของคนไทย มีจุดเด่นที่เป็นวัคซีนต้นแบบที่มีความปลอดภัยในสุกร กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอต่อการป้องกันอาการป่วยตาย รวมถึงเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย ฉะนั้น ไวรัสต้นแบบมีความปลอดภัยสูงในสุกร และมีความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพการคุ้มโรคได้ 100% (จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ) และมีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานภาคการเกษตร และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

พร้อมกันนี้ ไบโอเทคยังร่วมออกบูทผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่คณะเยี่ยมชม ซึ่งนอกจากจะมีผลงานบูทวัคซีนป้องกันโรค ASF ในสุกรแล้ว ยังมีผลงานของทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ (IBCT) ไบโอเทค มานำเสนอด้วย ได้แก่ ผลงานการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรียที่ใช้จัดการเพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟและเพลี้ยจักจั่น และราเมตาไรเซียมที่ใช้กำจัดไรแดงและแมลงปีกแข็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึง DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร ในรูปแบบ Line Official เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานโดยง่ายของเกษตรกร เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 หัวใจหลัก (เกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์) เป็นผู้ช่วยส่วนตัวเกษตรกรในไลน์ เพียงแค่แอดไลน์ @dapbot สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าระบบนี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยของเกษตรกรและเป็นประโยชน์สนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนต่อไป เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรปลอดภัยตามนโยบาย BCG ของประเทศ