ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค แสดงความยินดีกับ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ที่ได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 67

ดิฉันขอแสดงความยินดีกับ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ในโอกาสได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ประจำปี พ.ศ. 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ที่ได้พัฒนาให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อภาคส่งออกและภาคสังคมของประเทศไทย
 
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2567 ที่ ดร.กัลยาณ์ ได้รับในครั้งนี้ นับเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แก่ชาวไบโอเทค สวทช. แสดงให้เห็นถึงบุคลากรไบโอเทคเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องเหมาะสม และที่สำคัญ ดร.กัลยาณ์ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยบริหารงานวิจัยด้านสัตว์น้ำให้กับองค์กร โดยใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาวางแผนการวิจัยและเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในองค์กร ไม่เพียงเฉพาะสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำในการบูรณาการงานวิจัยจากสาขาต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน
 
สมดังปณิธานของไบโอเทคที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน
 
ท้ายนี้ ดิฉันขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 อีกท่าน ได้แก่ ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ค้นพบและระบุหน้าที่สำคัญของยีนและโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันของกุ้ง เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งสุขภาพดีและต้านทานโรค รวมถึงผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567 ได้แก่ รศ.ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้นและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับการประมวลผลสัญญาณไฟฟ้าซึ่งวัดได้จากร่างกายมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางสุขภาพ และการแพทย์ และ ผศ.ดร.อิทธิพล จีระพันธ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (เคมี) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คิดค้นและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเคมีไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าเคมีชีวภาพ และวัสดุขั้นสูง
 
ต้องขอชื่นชม และขอแสดงความยินดียิ่งค่ะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค