ประธานคณะกรรมการบริหารไบโอเทค และผู้บริหารไบโอเทค สวทช. ร่วมงานเปิดตัว “FoodSERP Platform” ชูจุดเด่น ขุมพลังวิจัย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทยสู่ความยั่งยืน

(21 สิงหาคม 2567)  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ดร.อติกร ปัญญา หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร , ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร และทีมวิจัยไบโอเทค เข้าร่วมงานเปิดตัว “FoodSERP Platform แพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชัน และเวชสำอางด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไทยสู่ความยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธาน พร้อมดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) สวทช. นำเสนอแพลตฟอร์ม และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคารพระจอมเกล้า ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลจาก Research Intelligence วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าแนวโน้มที่สำคัญของโลกหรือเมกะเทรนด์ (Megatrend) จากการสำรวจของ FMCG Gurus ระบุว่า ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 79% วางแผนที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาหารที่ตอบโจทย์เทรนด์นี้ เช่น อาหารฟังก์ชันและอาหารโพรไบโอติกส์ โดยในปี 2564 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันทั่วโลกมีมูลค่า 180.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในอนาคตคาดว่า ตลาดอาหารฟังก์ชันโลกจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 2.7% ต่อปี สำหรับอาหารโปรตีนทางเลือกจากพืช ซึ่ง BIS Research คาดว่า ตลาดอาหารโปรตีนทางเลือกจากพืชจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 14.3% ต่อปี ระหว่างปี 2564-2568 นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในอนาคต จึงทำให้ความต้องการของผู้บริโภคแตกต่างกัน ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน โดยเปลี่ยนระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหารจากรูปแบบดั้งเดิม ที่มุ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการจัดหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าและจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ มาเป็นในรูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform) ดังนั้นผู้ประกอบการหรือหน่วยธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว เช่น การสร้างโอกาสใหม่ ๆ การปรับรูปแบบธุรกิจ หรือการพึ่งพาและเข้าใจเทคโนโลยีให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดีการเปิดตัว “FoodSERP Platform” วันนี้ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของการวิจัยแบบมุ่งเป้าที่มีพันธกิจหลักในการให้บริการการผลิตและวิเคราะห์ทดสอบอาหาร เครื่องสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ที่สำคัญเป็นการตอบโจทย์เมกะเทรนด์และทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเปลี่ยนไป และสอดรับกับนโยบายของกระทรวง อว. โดยท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”
“กระทรวง อว. ยังมีกลไกสนับสนุนการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือ บพข. ที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศผ่านกิจกรรม เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การให้ทุนร่วม เป็นต้น”

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ฟูดเซิร์ป แพลตฟอร์ม “FoodSERP Platform” มีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่พร้อมใช้ประโยชน์ ซึ่งรวมถึง Thailand Bioresource Research Center หรือ TBRC คลังจุลินทรีย์ชั้นนำระดับอาเซียน ที่มีมากเกือบ 1 แสนสายพันธุ์ ถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญของงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และมีโรงงานผลิตกึ่งอุตสาหกรรม 2 แห่งที่มีมาตรฐานสากล สำหรับการผลิตและทดลองตลาด คือ โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค หรือ BBF ซึ่งดำเนินงานตามมาตรฐาน Codex GHPs & HACCP และโรงงานผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน ASEAN Cosmetic GMP นอกจากนี้ FoodSERP ยังมี technology platform เพื่อรองรับการต่อยอดการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตโพรไบโอติกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ และการผลิตต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มหมักเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ที่สำคัญ FoodSERP ยังให้ความสำคัญในการทำงานกับพันธมิตรภาคเอกชน ตามนโยบายของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คือ “เอกชนนำ รัฐหนุน” รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต ส่วนประกอบฟังก์ชั่น และเวชสำอางให้มีทั้งคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย

“จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของ FoodSERP แพลตฟอร์ม คือการให้บริการตลอดห่วงโซ่การผลิตตามโจทย์ที่เป็นความต้องการเฉพาะ (Tailor made) ของลูกค้า ในรูปแบบ One-stop service ที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบและมาตรฐาน ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชั่น (Functional ingredients) อาหารฟังก์ชั่นและเวชสำอาง จากฐานทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรและจุลินทรีย์ของประเทศ ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากต่างประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน FoodSERP ได้ให้บริการผู้ประกอบการแล้วจำนวนมากกว่า 250 ราย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วยเร่งการพัฒนาและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ สามารถผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมได้มากกว่า 30 ผลงาน นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ประกอบการที่กลับมาใช้บริการ (returned customers) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการใช้บริการในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการ กลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) สวทช. และรักษาการรองผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมอาหารคือหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นเม็ดเงินมหาศาล ด้วยความได้เปรียบของไทยที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในขณะที่ทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารโลก มุ่งไปสู่อาหารใหม่ หรืออาหารฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ดังนั้น แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน หรือ “FoodSERP” สวทช. จึงเร่งผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านกลยุทธ์ การผนวกวิทยาการความรู้ และความเชี่ยวชาญสหสาขา เครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ใน สวทช. โดยให้บริการตลอดห่วงโซ่การผลิต
ทั้งนี้ปัจจุบัน FoodSERP ให้บริการการผลิตและวิเคราะห์ทดสอบตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชั่น และเวชสำอาง รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับทดลองตลาดและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ส่วนผสมฟังก์ชั่น (functional ingredients) 2.โปรตีนทางเลือก(alternative proteins) และ 3.อาหารเฉพาะกลุ่ม (foods for specific group) ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ และกระบวนการปลายน้ำ ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต การขยายขนาดการผลิต การวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ บนฐานความเข้มแข็งของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

  

ภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ

1.“eLYSOZYME-T2/TPC ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีนสำหรับสัตว์” มีส่วนผสมของ eLYSOZYME-T2 ซึ่งเป็นไลโซไซม์จากไข่ไก่ที่ผ่านกระบวนการเสริมฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคในสัตว์น้ำ เช่น Vibrio parahaemolyticus, Vibrio harveyi, Vibrio alginolyticus, Streptococcus agalactiae, Staphylococcus aureus และ Aeromonas hydrophila ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวและปลา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด  และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด วางจำหน่ายในตลาดแล้ว

2. ยาอมและสเปรย์ 5 ตะขาบ สเปรย์แก้ไอมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์เทียบเคียงยาอมสูตรลูกกลอน สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุอาการคออักเสป (Pharyngitis) ได้มากกว่า 99.9 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 5 นาที  ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัทห้าตะขาบ ซิมเทียนฮ้อ จำกัด  วางจำหน่ายในตลาดแล้ว

3.“Cider vinegar หรือ “น้ำส้มสายชูหมัก” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เพราะกรดแอซีติก (Acetic acid) ซึ่งเป็นสารสำคัญในเครื่องดื่มประเภทนี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ดี  ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัทเอสคิวไอ กรุ๊ป จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ Cider Vinegar จากมังคุดออร์แกนิกแบบพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์Sukina Drinkวางจำหน่ายในตลาดแล้ว

4.อาหารผสมสำเร็จรูปชนิดผง เป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากถั่วเหลือง 100% ไม่มีน้ำตาลทรายเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็งเกร็ดเลือดต่ำ ผู้ที่เบื่ออาหาร ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตกล้ามเนื้อ โดยสินค้ามีคุณสมบัติในการละลาย การกระจายตัว และ การย่อยได้ที่ดี ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัท มา-จัสมิน จำกัด วางจำหน่ายในตลาดแล้ว

5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก ในรูปแบบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยในการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และต้านการอักเสบส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์  ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ให้กับ บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด หรือ SAS ภายใต้แบนรด์ bioCRAFT

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเวทีเสวนา ในหัวข้อ อาหารเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี: โฟกัสผู้สูงอายุและอาหารทางเลือก (Towards designing foods for specific groups: Addressing health and well-being through food innovation) นำเสนอ การเจาะลึกความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาอาหารสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีภาวะสุขภาพเฉพาะทาง ผ่านมุมมองของนักวิจัย, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ, เรียนรู้การนำความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอาหาร, ความต้องการทางโภชนาการและข้อจำกัดของผู้สูงอายุ, และกลยุทธ์การตลาดและการเข้าถึงผู้บริโภค

ในหัวข้อ  เร่งพัฒนานวัตกรรมอาหารอนาคตสู่เชิงพาณิชย์: กลยุทธ์และแนวทางสู่ความสำเร็จ  (Accelerating innovative research to commercialization for sustainable future food) นำเสนอ การเจาะลึกขั้นตอนและกระบวนการในการนำงานวิจัยด้านอาหารไปสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ภาครัฐ และหน่วยงานกำกับดูแล, กลยุทธ์การสร้างธุรกิจอาหารที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จ, การสนับสนุนจากภาครัฐ, และข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตและเสิร์ฟอาหารเมนูที่รังสรรค์จากวัตถุดิบจากงานวิจัยและพัฒนาของ FoodSERP สวทช. โดย ดร.วรพล อิทธิคเณศร (เชฟธอมัส) เจ้าของเพจ “ตำรับข้างวัง Truly Thai Recipes” และการเสวนาหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และอัปเดตเทรนด์อาหาร ส่วนผสมฟังก์ชั่นและเวชสำอางทั้งในและต่างประเทศ