
(27 เมษายน 2568) ณ โรงเรียนคำเตยอุปถัมภ์ ตำบลคำเตย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม – นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนครพนม ภายใต้การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2568 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) โดยมี ว่าที่ร้อยตรีรวยรุ่ง ใครบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายแพทย์อลงกต มณีกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต 3 และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วมรับฟังนโยบายการนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหา โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีหน่วยงานในกระทรวง อว. นำงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.)เป็นผู้แทนเข้า ร่วมด้วย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) และคณะผู้บริหารและนักวิจัยฯ รอให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยที่ สวทช. ที่ได้นำมาลงพื้นที่ในครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า สวทช. โดยไบโอเทค ได้นำ 2 ชุดตรวจด้านการเกษตร มานำเสนอต่อรัฐมนตรี อว. และเผยแพร่แก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ คือ ชุดตรวจ “Tilapia Strep-Easy Kit ชุดตรวจอย่างง่ายในรูปแบบ Immunochromatographic strip test (ICG strip test) สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิล และชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง คัดกรองโรคใบด่างฯ และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยไบโอเทค สวทช. โดยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ พัฒนาขึ้นทั้ง 2 เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และมีการขยายผลใช้งานแล้วทั่วประเทศ

ชุดตรวจ “Tilapia Strep-Easy Kit: ชุดตรวจอย่างง่ายเกษตรกรตรวจได้เอง สำหรับการเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรคสเตรปโตคอคโคซีส ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม” เป็นชุดตรวจสำหรับตรวจเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิลและปลาทับทิม ที่สามารถตรวจเชื้อ S. agalactiae serotype Ia และ S. agalactiae serotype III ได้พร้อมกันในชุดตรวจเดียว เป็นชุดตรวจที่ใช้ได้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือ เกษตรกรสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง สามารถนำไปตรวจในฟาร์มได้ มีประสิทธิภาพสูง ให้ผลทดสอบสอดคล้อง 94.4% กับวิธีการมาตรฐานที่กรมประมงใช้ (มกษ. 10453-2553) ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เลขที่ 67-1-3-3-0000863 ชุดตรวจนี้สามารถนำไปใช้ตรวจตัวอย่างที่หลากหลายรูปแบบ เช่น เมือกที่ผิวข้างลำตัวปลา และเลือด (ทดสอบปลาที่มีชีวิต) ไต (ปลาตาย) จึงสามารถใช้ตรวจได้กับปลาทุกระยะ เช่น พ่อแม่พันธุ์ ลูกปลาระยะอนุบาล และปลาโต รวมถึงน้ำในบ่อเลี้ยงปลา และยังสามารถนำไปใช้ในการเฝ้าระวังโรคในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต

ด้านชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง คัดกรองโรคใบด่างฯ และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test ซึ่งสามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการหรือเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ สำหรับชุดตรวจ Strip test มีความแม่นยำร้อยละ 96 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91 ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1) นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2) จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3) อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค

การนำเสนอชุดตรวจทั้งสองนวัตกรรมนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สวทช. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครพนม และทั่วประเทศอย่างแท้จริง ก่อนการประชุม ครม. สัญจร ที่มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป