นักวิจัยไบโอเทคได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการฝึกทักษะการระดมทุนประเภท crowdfunding เพื่อการระดมทุนวิจัยในโครงการการศึกษาการยับยั้งการถ่ายทอดของเชื้อซิกาจากแม่สู่ลูก จาก TDR Global

ดร.ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนด์และชีววิทยาโมเลกุล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักวิจัย 5 ท่านที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย (finalists) จากผู้สมัครทั้งหมด 121 คน ใน 37 ประเทศทั่วโลก ให้เข้าร่วมการฝึกทักษะการระดมทุนประเภท crowdfunding โดย Social Entrepreneurship to Spur Health (SESH) และ โปรแกรมพิเศษเพื่อวิจัยและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อน (The Special Programme for Research and Training in Tropical Diseases, TDR Global) เพื่อการระดมทุนวิจัยในโครงการ การศึกษาการยับยั้งการถ่ายทอดของเชื้อซิกาจากแม่สู่ลูก (Blocking Zika virus maternal-to-fetal transmission)

rice1

ในปัจจุบันนักวิจัยในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยด้านโรคติดเชื้อ (infectious disease) การระดมทุนในรูปแบบ crowdfunding จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดหาทุนวิจัยสำหรับงานวิจัยในสาขาดังกล่าว SESH และ TDR Global จึงได้ริเริ่มโครงการ “Crowdfund your own research” โดยได้เปิดรับข้อเสนอโครงการจากนักวิจัยในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำโดยมีคณะกรรมการอาสาสมัครประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสมาชิกของ TDR Global เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการ โดยนักวิจัยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย (finalists) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการฝึกอบรมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2562 กับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และผู้เชี่ยวชาญด้าน crowdfunding เพื่อสร้างทักษะในการออกแบบและจัดทำการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการระดมทุน

rice2 1

โครงการการศึกษาการยับยั้งการถ่ายทอดของเชื้อซิกาจากแม่สู่ลูก (Blocking Zika virus maternal-to-fetal transmission) โดย ดร.ธีรวัฒน์ฯ และคณะ มุ่งพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเยื่อบุมดลูก (endometrium) และเซลล์ทารก (trophoblast cells) ในระบบอวัยวะจำลองแบบสามมิติ (organoids) เพื่อนำมาศึกษากระบวนการการติดเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูก โดยคณะวิจัยจะพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเยื่อบุมดลูกและเซลล์ทารกเพื่อมาใช้ทดสอบแอนติบอดีที่มีการศึกษาเบื้องต้นมาแล้วว่ามีคุณสมบัติสามารถยับยั้งได้ทั้งเชื้อไวรัสเด็งกี่และเชื้อไวรัสซิกา

โรคไข้ซิกา (Zika fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) โรคไข้ซิกาก่อใก้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสังคม เนื่องจากเชื้อไวรัสซิกาสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ การติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มีผลให้การพัฒนาสมองของทารกผิดปกติก่อให้เกิดภาวะสมองเล็กในทารกแรกเกิด ในปี พ.ศ. 2558 ไวรัสซิการะบาดรุนแรงในประเทศแถบลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศบราซิล ทำให้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกาเป็นภาวะที่ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

เมื่อปี พ.ศ. 2559 เชื้อไวรัสซิกาได้มีการระบาดครั้งใหญ่แถบเอเชีย โดยมีประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่พบการระบาดหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าระดับการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในแถบเอเชียจะไม่รุนแรงเท่าแถบลาตินอเมริกา แต่ทว่าประเทศไทยมียุงลายจำนวนมากซึ่งเป็นพาหะของเชื้อไวรัสซิกาซึ่งจะส่งผลให้โรคนี้ระบาดมากขึ้นในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนายาหรือวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ของเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูกในครรภ์ที่ขณะนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสซิกาได้ การที่จะพัฒนายาหรือวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูกในครรภ์นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเข้าใจกระบวนการการติดเชื้อไวรัสซิกาในมดลูกและรก

ดร.ธีรวัฒน์ และคณะวิจัยจะทดสอบคุณสมบัติของแอนติบอดีที่ได้ศึกษาในการยับยั้งการแพร่เชื้อซิกาจากแม่สู่ทารกในครรภ์เพื่อสร้างพื้นฐานของการพัฒนายาหรือวัคซีนจากต้นแบบยาต้านเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่มีอยู่แล้วเพื่อนำมาใช้ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาต่อไป

ทั้งนี้นักวิจัยจะประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อเปิดให้มีการระดมทุนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่เว็บไซต์ https://www.experiment.com โดยทุกท่านสามารถเข้าไปร่วมบริจาคผ่านทางเว็บไซต์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการการศึกษาการยับยั้งการถ่ายทอดของเชื้อซิกาจากแม่สู่ลูก โดยไบโอเทค จะแจ้งให้ทุกท่านทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และช่องทางในการบริจาคอีกครั้งหลังจากที่ campaign ดังกล่าวได้รับการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์

ข้อมูลโปรแกรมพิเศษเพื่อวิจัยและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อน (TDR)

โปรแกรมพิเศษเพื่อวิจัยและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อน (TDR) เป็นโปรแกรมนานาชาติเพื่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยการริเริ่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) และมีองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารโลก (World Bank) ร่วมให้การสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนากลไกในการควบคุมโรคติดเชื้อ (infectious disease) และเพิ่มประสิทธิภาพของงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในประเทศที่ถูกคุกคามจากโรคดังกล่าว