ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ และ คุณณรงค์ อรัญรุตม์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ได้รับรางวัลวิจัยทะกุจิ ประจำปี 2562 จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย
ดร.วีระวัฒน์ ฯ ได้รับรางวัลประเภทนักวิจัยดีเด่น จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาและวิศวกรรมเอนไซม์และจุลินทรีย์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีและเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของวัสดุทางการเกษตรของประเทศโดยการบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพและกระบวนการทางเคมี ควบคู่ไปกับการพัฒนาจุลินทรีย์และเอนไซม์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีตั้งแต่การปรับสภาพและแยกองค์ประกอบของวัสดุลิกโนเซลลูโลส ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการเปลี่ยนชีวมวลลิกโนเซลลูโลสเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การค้นหาเอนไซม์จากจุลินทรีย์ในคลังของไบโอเทคร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเมตาจีโนมิกที่พัฒนาขึ้นเพื่อเข้าถึงแหล่งทรัพยากรจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ในห้องปฏิบัติการ (uncultured microbes) เพื่อค้นหายีนเป้าหมายและจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยชีวมวลลิกโนเซลลูโลส ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจเชิงลึกต่อกลไกการทำงานของจุลินทรีย์และเอนไซม์ในกระบวนการชีวเคมีในการย่อยชีวมวลลิกโนเซลลูโลสในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ได้ทำการสร้าง “Enzyme library” ซึ่งรวบรวมเอนไซม์ในรูปแบบเอนไซม์ดิบที่มีกิจกรรมของเอนไซม์ที่หลากหลายและรีคอมบิแนนท์เอนไซม์ซึ่งมีกิจกรรมเฉพาะ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของเอนไซม์ไซแลเนสทนร้อนที่ได้จากเมตาจีโนมของกองชานอ้อยที่มีความจำเพาะในการผลิตไซโลโอลิโกแซคคาไรด์ และเอนไซม์ไซแลเนสทนด่างที่ได้จากเมตาจีโนมของจุลินทรีย์ในลำไส้ปลวกซึ่งมีศักยภาพในการใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษโดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเอนไซม์ด้วยวิธี rational design และ directed evolution เพื่อเพิ่มความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาและความเสถียรในสภาวะที่ใช้ในกระบวนทางการอุตสาหกรรม โดยน้ำตาลที่ได้จากการแยกองค์ประกอบชีวมวลลิกโนเซลลูโลสจะถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวเคมีภัณฑ์โดยจุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงด้วยเทคนิค adaptive evolution หรือการสร้างวิถีการสังเคราะห์สารเป้าหมายโดยอาศัยองค์ความรู้ทางชีววิทยาสังเคราะห์ร่วมกับการพัฒนาชีวกระบวนการต้นแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสารผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินงานวิจัยดังกล่าวได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศและเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีและอุตสาหกรรมชีวภาพที่ยั่งยืนของประเทศ
คุณณรงค์ ฯ ได้รับรางวัลประเภทวิทยานิพนธ์ดีเด่น ระดับปริญญาโท จากผลงานเรื่อง “การพัฒนาเทคนิคอณูชีววิทยาที่มีความจำเพาะและความไวในการตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิธีทางอณูชีววิทยาในการตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารและเปรียบเทียบการตรวจตัวอย่างกับวิธีการเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยทำการพัฒนาวิธีการตรวจทางอณูชีววิทยา จำนวน 2 เทคนิค ประกอบด้วย เทคนิคมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ที่สามารถตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหารจำนวน 3 สายพันธุ์ (Salmonella spp. Bacillus cereus และ Staphylococcus aureus) พร้อมกันในคราวเดียว และเทคนิคแลมป์ร่วมกับการอ่านผลด้วยเครื่องวัดความขุ่นแบบง่ายในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ที่ปนเปื้อนในอาหาร เมื่อนำทั้งสองเทคนิคที่พัฒนาขึ้นไปใช้สุ่มตรวจตัวอย่างเนื้อหมูและเนื้อไก่แล้วเปรียบเทียบผลการตรวจกับวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อแบบดั้งเดิมพบว่าให้ผลความไว ความจำเพาะและความแม่นยำในการตรวจสูง แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาวิธีตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและปนเปื้อนในอาหารด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยานี้มีประสิทธิภาพสูงเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ทดแทนวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบการปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารได้
รางวัลทะกุจิ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่มีผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่น และภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการศึกษา วิจัยและการประยุกต์ใช้วิทยาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุขภายในประเทศไทย นักวิจัยที่ได้รับรางวัลได้ร่วมเสนอผลงานในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย The 31st Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB 2019) ณ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2562