ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ นักวิจัยหญิงคนที่ 12 ของไบโอเทคที่ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2562 (L’OREAL For Women in Science 2019) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) จากผลงานวิจัยเรื่อง “เอนอีช (ENZease): เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”เข้ารับรางวัลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.นตพร จันทร์วราสุทธิ์ รองผู้อำนวยการไบโอเทค มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีและพลังงานสูง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอที่ลดการใช้สารเคมี ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ‘เทคโนโลยีเอนไซม์’ จึงเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ดร.ธิดารัตน์ ฯ และคณะวิจัย จึงได้มุ่งหน้าคิดค้นเทคโนโลยีเอนไซม์จากเชื้อจุลินทรีย์ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์ที่มี ศักยภาพสูง และนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์สัญชาติไทยที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ โดย เอนอีซ (ENZease) เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว โดยสูตรเอนไซม์ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ โดยใช้ปริมาณน้ำ เวลา และอุณหภูมิ น้อยกว่ากระบวนการผลิตผ้าแบบเดิมถึง 2 เท่า ช่วยลดต้นทุนการผลิตผ้าฝ้ายให้น้อยลง ผ้าฝ้ายที่ได้ยังมีคุณภาพดีกว่าทั้งด้านความแข็งแรง การย้อมติดสี สามารถนำเข้าสู่กระบวนการย้อมสีและพิมพ์ลายเพื่อนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอนอีซที่คิดค้นได้โดยทีมวิจัยนี้ยังสามารถเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพของผ้าไทยทั้งในระดับอุตสาหกรรมและสิ่งทอพื้นเมืองและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะประชาชนชาวไทย อย่างมหาศาลต่อไปในอนาคต
เอนอีชเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทค เอ็มเทค และ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เอนอีชได้ถูกถ่ายทอดให้กับผู้ผลิตเอนไซม์ในประเทศไทย เพื่อทำการผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น หากมีการพัฒนาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและทั่วโลกได้รู้จักและมีการนำเอนไซม์เอนอีชเข้าไปใช้อย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบทางบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้อย่างมหาศาลต่อไป
โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science จัดขึ้นโดย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด จากการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 ในประเทศไทย โดยจะมอบทุนวิจัยทันละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยหญิงรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี เพื่อผลักดันนักวิจัยสตรีของไทยให้เดินหน้าสร้างผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี