กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเข้าเยี่ยมชม Bioliq Pilot Plant, Karlsruhe Institute of Technology ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชม Bioliq Pilot Plant ณ สถาบันเทคโนโลยีคาร์ลสรูห์ (Karlsruhe Institute of Technology; KIT) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยในโอกาสนี้ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค และ ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการไบโอเทค รับเสด็จฯ และเข้าร่วมเยี่ยมชมศูนย์ดังกล่าวด้วย

Bioliq1

Bioliq Pilot Plant, สถาบันเทคโนโลยีคาร์ลสรูห์ (Karlsruhe Institute of Technology; KIT) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่มา : https://www.bioliq.de/

โรงงานต้นแบบ Bioliq (Bioliq pilot plant) ตั้งอยู่ในสถาบันเทคโนโลยีคาร์ลสรูห์ (Karlsruhe Institute of Technology) หรือ KIT ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาและวิจัยของรัฐ ตั้งอยู่ที่เมืองคาร์ลสรูห์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี โรงงานต้นแบบ Bioliq เริ่มก่อสร้างในปี 2548 และเริ่มมีการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นโรงงานต้นแบบที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่มีสมบัติเหมือนหรือใกล้เคียงน้ำมันจากปิโตรเลียม ซึ่งนิยมเรียกกลุ่มเทคโนโลยีนี้โดยทั่วไปว่า การสังเคราะห์เชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวล (Biomass to Liquid – BTL) โดยใช้วัตถุดิบจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ฟางข้าวและเศษไม้ เป็นต้น

การผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จะเริ่มจากการนำชีวมวลมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยาทางความร้อนแบบอับหรือไร้อากาศ) เพื่อเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของของเหลวที่มีค่าความหนาแน่นพลังงานสูง ซึ่งเรียกว่าไบโอซินครูด (BioSynCrude) จากนั้นจึงนำไบโอซินครูดไปผ่านกระบวนการแปรสภาพแก๊สซิฟิเคชัน (Gasification ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยาทางความร้อนแบบควบคุมปริมาณอากาศ) ให้เป็นแก๊สสังเคราะห์ (Syn-Gas) ที่ปราศจากทาร์ที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส ขั้นตอนต่อไปคือการทำให้แก๊สสังเคราะห์ที่ได้รับมีความบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปน (ได้แก่ สารประกอบคลอไรด์ ไนโตรเจน และซัลเฟอร์) ขั้นตอนสุดท้ายคือการเปลี่ยนแก๊สสังเคราะห์ให้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงคุณภาพสูงโดยผ่านกระบวนการทางเคมี

เชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลสามารถใช้กับเครื่องยนต์ได้ทั้งดีเซลและเบนซิน ดังนั้นการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้สามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ย 900,000 บาร์เรล มีมูลค่ากว่า 900,000 ล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากชีวมวลหรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรซึ่งเหมาะกับประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม