ไบโอเทคร่วมจัดนิทรรศการงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBD2019)

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 สวทช. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO และหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน ณ เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

IBD2019 6

โอกาศนี้เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริของใต้ฝ่าละอองพระบาทด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการ 9 ส่วน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการวิทยาศาสตร์และลานเรียนรู้สำหรับเยาวชน นิทรรศการด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเก็บรักษาในระยะยาว นิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์ รวมทั้งกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความอุดมสมบรูณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้สร้างประโยชน์ พัฒนาประเทศ และสร้างเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการดูแลรักษา และการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้นๆ ด้วย

IBD2019 1

ในการนี้ สวทช. โดยไบโอเทค นำผลงานวิจัยเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ ในหัวข้อ เรื่อง “เทคโนโลยีกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน” โดยจัดแสดงร้อยเรียงบทบาทของ 3 โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ที่สนับสนุนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพโดยมุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพที่ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต ยีนของสิ่งมีชีวิต และข้อมูลสิ่งมีชีวิตเพื่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และสร้างความมั่นคงในการคุ้มครองสินทรัพย์ชีวภาพของชาติ ซึ่งเป็นทุนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนของประเทศ

ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center) เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ทำหน้าที่วิจัย พัฒนา และให้บริการเทคโนโลยี Omics แบบครบวงจร ที่นักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถนำปัญหาการวิจัยมาขอใช้บริการเครื่องมือสมัยใหม่ ที่ครบวงจรและได้มาตรฐานระดับนานาชาติ

ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center) เป็นศูนย์บริการชีววัสดุแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีจุลินทรีย์และชีววัสดุอื่นๆ มากกว่า 80,000 ตัวอย่างเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยบริหารจัดการด้วยระบบที่ได้การรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001: 2015

IBD2019 7

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงงานวิจัย AmiBase ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมข้อมูลของจุลินทรีย์ที่ค้นพบในอาเซียนไว้มากกว่า 30,000 ชนิด โดยจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

IBD2019 9jpg

งานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ “Bio-Wealth Country” ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการ ซึ่งเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา โดยวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 116 คน ในหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่ สายพันธุ์ในระบบนิเวศ (Species in Natural Ecosystem) การใช้ประโยชน์ (Utilization) ผลกระทบและภัยคุกคาม (Impact and Threat) และ การจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management) นอกจากนี้ ได้เชิญนักพฤกษศาสตร์ 16 ท่าน จากสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชและการรวบรวมพืชในสวนพฤกษศาสตร์ ในฐานะเป็นแหล่งรวมความรู้และรักษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมการจัดนิทรรศการ “ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภูผาสู่มหานที (Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea)” และกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อร่วมกันยกระดับงานวิจัยและอนุรักษ์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะมีประโยชน์อย่างสูงในการส่งมอบทรัพยากรที่มีคุณค่าให้กับประเทศ สร้างความมั่นคั่ง และยั่งยืนต่อไป