ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ไบโอเทค ได้รับทุนวิจัย Royal Society-Newton Advanced Fellowship 2018 ซึ่งเป็นทุนร่วมสนับสนุนระหว่าง The Royal Society สหราชอาณาจักร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อผลิตอาร์เอ็นเอสายคู่ในการใช้ควบคุมโรคกุ้งอย่างยั่งยืน” (Establishment of RNAi-based algal technology for sustainable disease control in shrimp cultivation) โดยมี ดร.วรรณวิมล เป็นหัวหน้าโครงการฝ่ายไทย และ Prof. Dr. Colin Robinson จาก University of Kent เป็นหัวหน้าโครงการฝ่ายอังกฤษ โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Royal Society ตลอดโครงการจำนวนประมาณ 3.33 ล้านบาท (74,000 ปอนด์) และ สกว. 1.50 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นตลอดโครงการประมาณ 4.83 ล้านบาท
เทคโนโลยีอาร์เอ็นเออินเตอร์เฟียแรนซ์ (RNAi) เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการใช้ยับยั้งโรคที่เกิดจากไวรัส โดยใช้หลักการที่อาร์เอ็นสายคู่ (double-stranded RNA, dsRNA) สามารถรวมเข้ากับกลุ่มโปรตีนเพื่อเข้าทำลายเป้าหมายอย่างจำเพาะซึ่งได้แก่ยีนของไวรัส สาหร่ายเซลล์เดียว Chlamydomonas reinhardtii ได้รับความสนใจนำมาใช้เพื่อให้ผลิตสารชีวภาพที่สำคัญได้หลายชนิดซึ่งรวมถึง dsRNA ด้วย เนื่องจากสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Generally recognized as safe (GRAS) โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ให้ใช้เป็นอาหารได้ เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสาหร่ายชนิดนี้ไม่สร้างสารพิษที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้ว กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมของคลอโรพลาสต์สาหร่ายชนิดนี้เพื่อการผลิตสารชีวภาพมีการรายงานอย่างแพร่หลาย และด้วยคุณสมบัติการสังเคราะห์ด้วยแสงของสาหร่าย จึงทำให้สามารถใช้คุณลักษณะนี้ในการคัดเลือกสาหร่ายที่ได้รับการถ่ายยีนได้ จึงทำให้หลีกเลี่ยงการใช้สารต้านปฏิชีวนะในการคัดเลือกได้ งานวิจัยนี้จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการต้านโรคไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้ง โดยที่สาหร่ายยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่เอื้อต่อการเติบโตของกุ้งและสามารถใช้เป็นอาหารเสริมให้กุ้งได้โดยตรง จึงเป็นการขนส่ง dsRNA ที่สาหร่ายผลิตได้เข้าสู่กุ้งโดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนและขั้นตอนให้แก่เกษตรกร และเป็นการป้องกันโรคอย่างยั่งยืน
Newton Advanced Fellowship เป็นทุนภายใต้กองทุน Newton Fund ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยที่จบปริญญาเอกไม่เกิน 15 ปี มีประวัติการทำงานวิจัยในเกณฑ์ดีและสร้างทีมวิจัย (หรืออยู่ระหว่างสร้างทีมวิจัย) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร โดย The Royal Society จะสนับสนุนงบประมาณจำนวนไม่เกิน 74,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3.33 ล้านบาท และประเทศไทยโดย สกว. ร่วมสนับสนุนงบประมาณจำนวนไม่เกิน 1.50 ล้านบาท