นักวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2561

ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2561 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นผลงานร่วมวิจัยระหว่างไบโอเทค เอ็มเทค โรงงานสิ่งทอธนไพศาล และ บริษัท เอเซียสตาร์เทรด จำกัด

IMG 19OctBE2561165851

ผลงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในสหสาขาวิชาต่างๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์แบบสมรรถนะสูง เทคโนโลยีการหมัก (fermentation technology) เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเอนไซม์หลังการผลิต (downstream processing technology) และ เทคโนโลยีการผสมสูตรเอนไซม์ (enzyme formulation technology) โดยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโมเลกุลของเอนไซม์และโมเลกุลของสารเติมแต่งด้วยเทคนิคทางชีวฟิสิกส์ เพื่อพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” ซึ่งเป็นเอนไซม์อัจฉริยะที่สามารถใช้เพื่อทดแทนสารเคมีในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายออกอย่างง่ายดายในขั้นตอนเดียว ทำให้ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการผลิตฝ้าฝ้าย ลดระยะเวลา พลังงาน แรงงาน และค่าใช้จ่ายโดยรวมในการผลิตลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการเดิม นอกจากนั้น กระบวนการผลิตผ้าฝ้ายโดยใช้เอนไซม์เอนอีซยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทดแทนกระบวนการผลิตผ้าแบบดั้งเดิมทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน และระดับอุตสาหกรรมได้ง่าย เพราะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรใดๆ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งทอทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชนและระดับอุตสาหกรรมสามารถเพิ่มกำลังการผลิตผ้าฝ้ายต่อวันได้มากขึ้นอีกด้วย 

IMG 19OctBE2561170055
IMG 19OctBE2561170042

เอนไซม์เอนอีซได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เอเซียสตาร์เทรด จำกัด เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีบริษัท พิสิษฐ์ อินเตอร์กรุ๊ป เป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยและโซนประเทศใกล้เคียง นอกจากนี้ คณะวิจัยยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มชาวบ้านที่มีการพัฒนาสินค้าผ้าฝ้ายพื้นเมืองให้หันมาใช้กระบวนการผลิตผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาศักยภาพสิ่งทอในชุมชนให้สามารถสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การยกระดับสินค้าพื้นเมือง การผลิตสิ่งทอเทคนิค หรือนวัตกรรมสิ่งทออื่นๆ ส่งผลกระทบต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ คุณภาพชีวิต และสร้างชุมชนให้มีความเข็มแข็งต่อไปโดยในปีนี้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มอบให้แก่ คุณสุวัฒน์ รติวัชรากร และคณะ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากผลงานเรื่อง “ระบบควบคุมแรงดันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Redundancy” 

IMG 19OctBE2561165941
IMG 19OctBE2561170004

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ขึ้นตั้งแต่ปี 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่นทั้งในภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการ และนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังและต่อเนื่องของประเทศไทย โดยในปีนี้มีการแถลงข่าวเปิดตัวเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2561 โดย น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก