ไบโอเทคจัดงานสัมมนา “Assisting Thailand Agriculture by Significantly Increasing Crop Yields Using Patented Gene Technologies” โดยเชิญ Dr.Jerald S. Feitelson นักวิจัยและผู้บริหารบริษัท AgiBody Technology, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจีโนมในพืชและจุลินทรีย์มามากกว่า 30 ปี มาเป็นผู้บรรยายในงาน โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชระหว่างบริษัทฯ กับบุคลากรของไบโอเทค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี
Dr. Feitelson บรรยายถึงงานวิจัยและพัฒนาของบริษัท AgiBody Technology ด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในเรื่องเกี่ยวกับการปรับแต่งจีโนม (genome editing) ของพืช ซึ่งเป็นกระบวนการการแก้ไขคุณสมบัติของพืชในระดับพันธุกรรม ด้วยระบบ CRISPR ซึ่งเป็นการใช้เอนไซม์ในกลุ่มนิวคลีเอส (Site-directed nucleases, SDN) เข้าไปตัดดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตในตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอเป้าหมาย นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกิดลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการ และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในการใช้เทคนิคนี้ ไม่ถือว่าติดบัญญัติกฏหมายควบคุม Genetic Modification เนื่องจากกลไกในการปรับแต่งพันธุกรรมแบบนี้มีความจำเพาะเจาะจงสูงและไม่มีชิ้นส่วนแปลกปลอมแทรกในระดับจีโนมของพืช
นอกจากนั้น Dr. Feitelson ได้ยกตัวอย่างชนิดและลักษณะของพืชที่ทดลองใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม โดยการใช้เอนไซม์นิวคลีเอสเฉพาะของบริษัทฯ (CRISPR 3.0) ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการใช้ SDD แบบเก่า ด้วยการหยุดการทำงานของ DHS gene (gene knockout) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนการทำงานของ Eukaryotic translation initiation factor (eIF gene) และทำให้พืชมีลักษณะทางการเกษตรที่ดีขึ้น เช่น การเพิ่ม biomass และผลผลิตให้สูงขึ้น การเพิ่มความทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการยืดอายุของผลผลิตให้ยาวนานขึ้น โดยมีตัวอย่างการทดลองในพืชหลายชนิด อาทิ การยืดอายุของผลมะเขือเทศและกล้วยหอมให้สุกงอมช้าลง การเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรคในต้นกล้วยและมะเขือเทศ การชะลอความแก่และเหี่ยวในพืชดอก การเพิ่มชีวมวลและผลผลิตในต้นคาโนลา และการเพิ่มลักษณะทางคุณภาพของต้นถั่วอัลฟัลฟ่า ซึ่งปัจจุบันต้นถั่วอัลฟัลฟ่าที่ปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีเฉพาะของบริษัทฯ ได้ผ่านการทดสอบระดับแปลงปลูกและได้รับการอนุมัติว่าเป็น non-regulated genome editing plant ชุดแรกของอเมริกาที่ไม่ถือว่าเป็น genetic modification plant