3 ผลงานวิจัยไบโอเทคคว้ารางวัลในงาน Seoul International Invention Fair 2017 (SIIF 2017)

ผลงานวิจัยไบโอเทค ได้รับ 3 รางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ Seoul International Invention Fair 2017 (SIIF 2017) ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 โดยรายละเอียดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล มีดังนี้ ไมโครแคปซูลที่ใช้กักเก็บสารสกัดจากธรรมชาติ 4 ชนิดเพื่อใช้ร่วมกับเครื่องสร้างไอน้ำในการใช้ไล่ยุงในรัศมีวงกว้าง ได้รับรางวัลเหรียญทอง ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือของคณะวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ไบโอเทค นำโดย ดร.สรวง สมานหมู่ ดร.วีระชัย นาสัมพันธ์ และคุณพิยะดา ขยัก กับบริษัท BARRICARE CO., LTD. 

Soul1

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการนำเอาเทคโนโลยี Polymer Assisted Sustain and Release (PASAR) มาใช้ในการกักเก็บหรือห่อหุ้ม (encapsulation) สารสกัดจากธรรมชาติด้วยพอลิเมอร์ชีวภาพ ซึ่งงานวิจัยนี้นำมาประยุกต์ใช้กับน้ำมันหอมระเหยจากสารสกัดธรรมชาติ 4 ชนิด โดยจะช่วยให้สารสกัดจากธรรมชาติมีความเสถียร และเมื่อใช้ร่วมกับเครื่อง Humidifier หรือ เครื่อง MosShield ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนของเหลวเป็นละอองหมอกความละเอียดระดับไมโครเมตร สามารถควบคุมการปลดปล่อยไล่ยุงได้นาน รวมถึงเพิ่มรัศมีการไล่ยุงในวงกว้างได้ ปัจจุบันบริษัท BARRICARE CO., LTD. รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว สารสกัดเปปไทด์สายสั้นที่แปรรูปจากโปรตีนสกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้า ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือของคณะนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.สรวง สมานหมู่ ดร.วีระชัย นาสัมพันธ์ คุณวรินทร ไชยโรจน์รัตน์ และคุณพัชรภัค สุริวงศ์ กับบริษัท IMPRESS RICE CO., LTD. 

Soul2

งานวิจัยดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ได้จากการหมักข้าวไรซ์เบอรี่ด้วยจุลินทรีย์ 2 ชนิด (co-fermentation) คือ Lactobacillus rhamnosus และ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งกลุ่มวิจัยนำเอาสารสกัดโปรตีนที่ได้จากการหมักมาย่อยเป็นเปปไทด์สายสั้นๆ เพื่อให้ซึมเข้าสู่ชั้นผิวได้ง่ายขึ้น โดยเปปไทด์ดังกล่าวมีคุณสมบัติในการลดการยึดตัวของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอย และมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อความอ่อนเยาว์ของผิว นอกจากโปรตีนจากข้าวแล้ว สารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ได้จากการสกัดนี้คือ แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงินในข้าวไรซ์เบอรี่ โดยสารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวเช่นเดียวกับเปปไทด์จากข้าว
ไมโครแคปซูลของสารสกัดโพลีฟีนอลจากข้าวไรซ์เบอรี่เพื่อใช้เป็นสารเพิ่มความกระจ่างใสบนผิวหน้า ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือของคณะนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.สรวง สมานหมู่ ดร.วีระชัย นาสัมพันธ์ และ คุณภาณุเดช ประมูลสิน กับบริษัท ADVATEC CO., LTD. 

soul3

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการนำเอาเทคโนโลยี Polymer Assisted Sustain And Release (PASAR) มาต่อยอดเพื่อใช้ในการกักเก็บหรือห่อหุ้มสารสกัด (encapsulation) ด้วยพอลิเมอร์ชีวภาพ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งทางเคมี และทางกายภาพ ซึ่งลักษณะของแคปซูล หรืออนุภาคจะมีขนาดเล็กระดับ 100 ไมโครเมตร โดยนำมาห่อหุ้มสารโพลีฟีนอลที่สกัดได้จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ทำให้สารสำคัญมีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูง และควบคุมการปลดปล่อยได้ จึงช่วยให้สารออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งสารโพลีฟีนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ รวมถึงช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและไฟเบอร์ในชั้นผิว นอกจากนี้สารโพลีฟีนอลยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเอมไซม์ไทโรซิเนสและเมลานิน ซึ่งเป็นตัวสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสขึ้นได้อีกด้วย
งาน Seoul International Invention Fair 2017 จัดโดยสมาคมส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์ของเกาหลี (Korea Invention Promotion Association; KIPA) ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลงานจากนักประดิษฐ์ทั่วโลก โดยปีนี้ สวทช. โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) นำผู้ประกอบการไทย 16 บริษัท ภายใต้โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม (Startup Voucher) คว้ารางวัล 3 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 5 เหรียญทองแดง