นักวิจัยไบโอเทคคว้าทุน IFS-SEARCA Collaborative Research Grant 2016

The International Foundation for Science-Southeast Asian Regional Center for Graduate Study and Research in Agriculture (IFS-SEARCA) Collaborative Research Grants 2016 เป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยรุ่นเยาว์ให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม โดยมุ่งเน้นงานวิจัยการพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน โดยในปีนี้มีคณะนักวิจัยไบโอเทคได้รับทุน ดังนี้

1

ดร.อุมาพร เอื้อวิเศษวัฒนา นักวิจัยห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางชีวภาพ ภายใต้โครงการเรื่อง “Effects of biofloc technology application in white shrimp culture system on shrimp health and nutrition through gene and metabolite profiling analyses” โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 15,000 USD ระยะเวลา 2 ปี (1 พฤษภาคม 2560 – 30 เมษายน 2562)
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จาก “ไบโอฟลอค” (กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์) ต่อสุขภาพกุ้ง และสารอาหารในกุ้ง เพื่อประโยชน์ในแง่โภชนาการ ที่ผ่านมาการศึกษาสุขภาพกุ้งในระดับโมเลกุลยังมีอยู่อย่างจำกัด ในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพกุ้ง ในด้านการเจริญเติบโต ระดับภูมิคุ้มกัน และสารอาหารในกุ้ง ด้วยตัวชี้วัดในระดับยีน และเมตาโบไลท์ โดยการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวจะศึกษาภายใต้สภาวะที่มีการให้ไบโอฟลอค และการให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรค เพื่อสร้างความเข้าใจถึงกลไกการตอบสนองของกุ้ง และเพื่อประเมินประโยชน์จากการใช้ไบโอฟลอคในการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตัวชี้วัดในระดับยีน และเมตาโบไลท์ที่ได้พัฒนาจากงานวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ในการประเมินสภาวะที่เหมาะสมของการใช้ไบโอฟลอค เพื่อส่งเสริมสุขภาพกุ้ง และสารอาหารในกุ้งได้ ซึ่งจะสามารถช่วยปรับปรุงวิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งให้ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สภาวะโลกร้อน เป็นต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งมีความยั่งยืนต่อไป

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ Climate change adaptation strategy through application of biofloc technology for the improvement of productivity and environmental sustainability of white shrimp Litopenaeus vannamei production in South East Asia เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประเมินความสามารถของจุลินทรีย์ในการประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยชุดโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับ Dr. Magdalena Lenny Situmorang จากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง (Institut Teknologi Bandung) ประเทศอินโดนีเซีย และ Dr. Jomar Fajardo Rabajante จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ วิทยาเขตลอส บานอส (University of the Philippines Los Baños) ประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้ชื่อ ทีม AQUASAFE

2

ดร.วลัยพร เจริญทรัพย์ศรี นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (เครือข่ายความร่วมมือระหว่างไบโอเทค และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ภายใต้โครงการเรื่อง “Climate change impact on the pathogenic Vibrio parahaemolyticus isolates causing acute hepatopancreatic necrosis disease (AHPND)” โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 15,000 USD ระยะเวลา 2 ปี (1 กรกฎาคม 2560 – 30 มิถุนายน 2562)
ดร.ภคกุล สังข์สุริยะ นักวิจัยห้องปฏิบัติการอณูพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์ ภายใต้โครงการเรื่อง “Impact of high temperature on shrimp immune response associated with acute hepatopancreatic necrosis disease (AHPND)” โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 15,000 USD ระยะเวลา 2 ปี (6 มิถุนายน 2560 – 5 มิถุนายน 2562) ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ Climate change and pathogenicity with emphasized on Vibrio parahaemolyticus causing acute hepatopancreatic necrosis disease (AHPND) in shrimp เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความรุนแรงในการก่อโรค AHPND ของเชื้อ Vibrio parahaemolyticus และความอ่อนแอของกุ้งในการต้านทานโรค AHPND ภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูง รวมทั้งพัฒนาวิธีการเลี้ยงกุ้งที่สามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรค AHPND ที่ใช้ได้จริงในระดับห้องปฏิบัติการ โดยเป็นความร่วมมือกับ นาย Vuong Viet Nguyen จากสถาบัน Research Institute for Aquaculture No.1 ประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อ ทีม CHANGE

3

 ดร.พรกมล อุ่นเรือน นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ภายใต้โครงการเรื่อง “Comparative techno-economic assessment and environment impacts of rice husk conversion technologies: Hydrothermal carbonization vs. Pyrolysis vs. Anaerobic digestion” โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน จำนวนเงิน 15,000 USD ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการใช้แกลบเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีการนำแกลบมาใช้เพื่อผลิตพลังงานเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และลดการพึ่งพาพลังงานจากปิโตรเลียม ดังนั้นข้อมูลความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงได้รับความสนใจในปัจจุบัน โครงการวิจัยมุ่งเน้นศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการใช้แกลบเพื่อผลิตพลังงาน 3 กระบวนการได้แก่ 1) hydrothermal carbonization 2) pyrolysis และ 3) anaerobic digestion โดยอาศัยแบบจำลอง techno-economy และ life cycle assessment (LCA) ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวมวลและพลังงานที่ผลิตได้เพื่อประเมินความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ของแต่ละกระบวนการ โดยการเปรียบเทียบในมุมมองของต้นทุนการผลิต (Production cost) ความยั่งยืน (Sustainability) และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม (Environmental Impacts) เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการต่อพลังงานที่ผลิตได้ เป็นต้น องค์ความรู้ที่ได้จะเป็นแนวทางในการคัดเลือกเทคโนโลยีการใช้ชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ Development of Renewable Energy from Rice Husk to Mitigate Effects of Climate Change เพื่อศึกษาข้อมูลการใช้แกลบเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยชุดโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับ Dr. Elisabeth Rianawati จากสถาบัน Resilience Development Initiative (RDI) ประเทศอินโดนีเซีย, Dr. Bridgid Lai Fui Chin จากมหาวิทยาลัย Curtin university ประเทศมาเลเซีย และ Dr. Menandro N. Acda จากมหาวิทยาลัย University of the Philippines Los Banos ประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้ชื่อ ทีม RENEWABLE ENERGY

นอกจากนี้ทีม AQUASafe และ CHANGE ยังได้รับรางวัล Carolina MacGillavry Collaborative Research Award ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่ได้จากการคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุด จากการจัดลำดับทีมวิจัยที่ได้รับทุน IFS-SEARCA จำนวน 12 ทีม ซึ่งในปีนี้มีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่ได้รับรางวัลนี้
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก IFS Annual Report 2016