ผลงานวิจัยไบโอเทคคว้ารางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงาน 13th Taipei International Invention Show & Technomart (INST 2017)

ผลงานวิจัยไบโอเทค เรื่อง “VIP -Safe Plus : LAMP Electrochemical Sensor for Detection of Foodborne Pathogen” และ เรื่อง “Cassava starch-based hydrogel as a superdisintegrant in drug tablets” ได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ 13th Taipei International Invention Show & Technomart (INST 2017) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน
“VIP-Safe Plus: LAMP Electrochemical Sensor for Detection of Foodborne Pathogen” หรือ ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพาเพื่อการตรวจหาเชื้อก่อโรคในอาหาร ได้รับรางวัล Platinum Award โดยผลงานนี้เป็นการร่วมวิจัยของคณะวิจัยไบโอเทค นำโดย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด และคณะนักวิจัยเนคเทค นำโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ และคณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหดิล นำโดย ดร.ป๋วย อุ่นใจ โดยได้รับการอุดนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาเทคนิคแลมป์ (LAMP) ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร (Vibrio cholerae, V. parahaemolyticus และ Escherichia coli สายพันธุ์ 0157:H7) ร่วมกับเครื่องตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา ซึ่งสามารถตรวจเชื้อทั้ง 3 ชนิดได้โดยใช้เครื่องตรวจวัดร่วมกันเพียงเครื่องเดียว ชุดตรวจประกอบด้วย น้ำยาแลมป์ อุปกรณ์ขั้วไฟฟ้าพิมพ์ได้ เครื่องป้อนศักย์ไฟฟ้าแบบพกพา เพื่อใช้ในการตรวจเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร ที่ง่ายต่อผู้ใช้งาน มีความเหมาะสมกับห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก และงานภาคสนาม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่แนวทางในการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปนเปื้อนในอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

INST2017

 “Cassava Starch-based Hydrogel as a Superdisintegrant in Drug Tablets” ได้รับรางวัล Gold Medal Award โดยผลงานนี้เป็นการร่วมวิจัยของไบโอเทค โดย ดร.กุลฤดี แสงสีทอง นักวิจัยห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปแป้งมันสำปะหลังและแป้ง กับ ดร.ปฐมา จาตกานนท์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต คณะอุตสาหกรรมเกษตร นางสาวศศิกานต์ บุญคำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ทรงวุฒิ ยศวิมลวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจลจากแป้งมันสำปะหลังโดยการทำปฏิกิริยากับกรดอินทรีย์ที่รับประทานได้จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไฮโดรเจลที่พัฒนาได้มีลักษณะเป็นผงสีขาวนวล เมื่อสัมผัสน้ำสามารถดูดซับน้ำและพองตัวขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ละลายน้ำ จึงไม่เกิดสารข้นเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการแตกตัวของเม็ดยา มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับใช้เป็นสารช่วยแตกตัวในตำรับยาเม็ด โดยแรงที่เกิดจากการพองตัวของไฮโดรเจลจะช่วยดันให้องค์ประกอบต่างๆ ในเม็ดยาแตกกระจายตัวออก ทำให้ตัวยาสำคัญสามารถละลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยาเม็ดที่ผลิตโดยไฮโดรเจลที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เวลาการแตกตัวสั้นกว่ายาเม็ดที่ผลิตโดยใช้สารช่วยแตกตัวยิ่งยวดทางการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ยาหรือสารสำคัญออกฤทธิ์ได้ไวขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาทางการแพทย์ดีขึ้นด้วย 

INST20171

 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและนำเสนอผลงานในเวที “13th Taipei International Invention Show & Technomart (INST 2017)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 กันยายน 2560 ณ Taipei World Trade Center กรุงไทเป ไต้หวัน โดยมีผลงานของนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 46 ผลงาน จาก 19 หน่วยงาน ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย ผลงานวิจัย “VIP-Safe Plus: LAMP Electrochemical Sensor for Detection of Foodborne Pathogen” เป็นผลงานเดียวที่สามารถคว้ารางวัล Platinum Award ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของงาน